“ตรัง”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดตรัง


“ตรัง”
“ตรัง” มาจากคำสันสกฤต “ตรงฺค”
“ตรงฺค” อ่านว่า ตะ-รัง-คะ
“ตรงฺค” แปลว่า คลื่น
ประกอบด้วย ตร + องฺค

“ตร” 
“ตร” แปลว่า ข้าม เดิน เคลื่อนที่ไป

“องฺค”
“องฺค” แปลว่า อวัยวะ อวัยวะที่เคลื่อนที่ไปได้ในทะเล หมายถึง คลื่นหรือละลอก

เอกสารเก่าพบว่าเมืองตรัง 
เขียนได้ทั้ง “ตรัง” หรือ “ตรังค์”
ปัจจุบันเขียนว่า “ตรัง” ส่วน
“ตรังค์” เป็นคำไทยโบราณ
มีข้อสันนิษฐานบอกคำว่า “ตรัง” มาจากภาษามาลายูว่า “Terang” ที่แปลว่า รุ่งอรุณ หรือ สว่างแล้ว เพราะว่าการเดินเรือที่มาจากมาลายูในสมัยก่อนนั้นจะมาถึง “ตรัง” ตอนสว่างพอดี

คำว่า “ตรัง” ยังมีในภาษาเขมร “เฏิมตรำง” หมายถึง ต้นตาล ในวรรณคดีไทยมีคำว่า “ตรัง” หรือ “กรัง” แปลว่า ติดอยู่ และในภาษาถิ่นมาลายู “ตรัง” หมายถึง ป่าโปร่ง ป่าไผ่

ยังมีอีกคำนึงที่อ้างกันมากว่า “ตรังเค” ว่าเป็นภาษามาลายู แต่คำนี้พึ่งเกิดเมื่อปี 2520 ในการทำกิจกรรมของกลุ่มคนรักตรังกลุ่มนึงชื่อว่า “ตรังเคเสวนา” แต่คำว่า “ตรังเค” ไม่มีในภาษามาลายูมีแต่คำว่า Terang เท่านั้น


ประวิติจังหวัดตรัง
จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีประวัติในสมัยโบราณก่อนหน้านั้น และเข้าใจว่าในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถ ครั้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองตรังยังไม่มี เพราะพระธรรมนูญกล่าวถึงหัวเมืองฝ่ายใต้มีเพียง นครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา เพชรบุรี กุย ปราณ ครองวาฬ บางสะพาน ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ตะนาวศี ทะวาย มะริด และสามโคก ดังนั้นเมืองตรังแต่เดิมมา น่าจะเป็นเพียงทางผ่านไปยังเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุงเท่านั้น ต่อมาเมื่อผู้คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากขึ้นจึงเกิดเมืองในตอนหลัง เท่าที่พบหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดตรัง เริ่มแรกได้จากศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จารึกโดยพระเจ้าจันทรภาณุ หรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ 5 ในปี พ.ศ. 1773 ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมาก ได้จารึกว่าอาณาจักรนครศรีธรรมราชมีหัวเมืองรายล้อมอยู่ถึง 12 หัวเมือง ได้กำหนดใช้รูปสัตว์ตามปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง เรียกว่าการปกครองแบบ 12 นักษัตร โดยเมืองตรังใช้ตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมือง แสดงว่าในปี พ.ศ.1773 มีเมืองตรังแล้วแต่ไม่ทราบว่าตั้งเมืองอยู่ที่ใด ในพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าว ว่าเมื่อปี พ.ศ.1493 พระยากุมารกับนางเลือดขาวไปลังกา ทั้งขาไปและขามาได้แวะที่เมืองตรัง เพราะเป็น เมืองท่า นางเลือดขาวยังได้สร้างพระพุทธรูปและวัดพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เมืองตรัง

      ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองตรังมีชื่อเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นถึงปี พ.ศ.2347 รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯ ให้ยกเมืองตรังขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ชั่วคราว เนื่องจากผู้รักษาเมืองตรังเป็นอริกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นให้ไปขึ้นกับเมืองสงขลาระยะหนึ่ง จนถึง พ.ศ.2354 จึงกลับไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงแต่งตั้งพระอุไภยธานีเป็นเจ้าเมืองตรังคนแรก และได้มีการสร้างหลักเมืองตรังไว้ที่ควนธานี พ.ศ.2381 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ทางเมืองตรังและหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง ต่อมาจึงได้โอนเมืองตรังมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ อยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองตรังจนถึง พ.ศ.2428 เมืองตรังจึงได้กลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ภูเก็ต และเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองตรังจึงถูกรวมเข้าเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลภูเก็ต

      ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. 2433 ทรงเห็นเมืองตรังมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงโปรดฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง และสร้างความเจริญให้แก่ตรังอย่างมากมาย โดยย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ อำเภอกันตัง ปากแม่น้ำตรัง โดยรวมเอาเมืองตรังและปะเหลียนเข้าด้วยกัน และพัฒนาเป็นเมืองท่าการค้าและยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราที่จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าที่ตั้งตัวเมืองตรังเดิม คือ เมืองกันตังไม่ปลอดภัยจากศัตรู ไม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ลุ่มมาก น้ำทะเลท่วมถึง จะขยายตัวเมืองได้ยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังมาจนทุกวันนี้ และเมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2476 เมืองตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย


ตราประจำจังหวัดตรัง มีความหมายดังนี้
ภาพสะพานกระโจมไฟ และภาพลูกคลื่น
หมายถึง จังหวัดตรังเคยเป็นเมืองท่า ทำการค้าขายกับต่างประเทศ

ภาพลูกคลื่น หมายถึง สัญลักลักษณะพื้นที่ของจังหวัดตรัง เป็นเนินเล็ก ๆ สูงๆ ต่ำๆ คล้ายลูกคลื่น


คำขวัญประจำจังหวัดตรัง
“เมืองพระยารัษฏา
ชาวประชาใจกว้าง
หมูย่างรสเลิศ
ถิ่นกำเนิดยางพารา
เด่นสง่าดอกศรีตรัง
ปะการังใต้ทะเล
เสน่ห์หาดทรายงาม
น้ำตกสวยตระการตา”


ขอบคุณภาพประกอบ
Google

เรียบเรียงโดย
กลุ่มภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *