“นครวิถี”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
นครวิถี – ธานีรัถยา – กรุงเทพอภิวัฒน์

“นครวิถี”
“นครวิถี” อ่านว่า นะ-คอน-วิ-ถี
แปลว่า วิถีชีวิตคนเมือง
ประกอบด้วย นคร + วิถี

“นคร”
“นคร” บาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ
“นคร” เป็นคำทั้งบาลีและสันสกฤต
“นคร”แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปราสาทเป็นต้น”
“นคร” มีรากศัพท์มาจาก “นค”
“นค” อาคารสูง เช่นปราสาท

“นคร” ความหมายแต่เดิมในบาลี หมายถึง ป้อม, ที่มั่น, ป้อมปราการ ต่อมาจึงหมายถึง นครหรือเมือง (ที่มีป้อมค่าย)

“นคร” ในสันสกฤตหมายถึง นคร,บุรี, กรุง, เมืองเอก, ‘เมืองใหญ่หรือ ราชธานี (a town, a city, a capital or metropolis)

“นคร” ในภาษาไทยหมายถึง เมืองใหญ่ , กรุง


“วิถี”
“วิถี” อ่านว่า วิ-ถี
“วิถี” บาลีเป็น “วีถิ”
“วีถิ” ประกอบด้วย วี + ถิ
“วีถิ”แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

“วีถิ” ในภาษาไทยหมายถึง สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี

“ธานีรัถยา”
“ธานีรัถยา” อ่านว่า ทา-นี-รัด-ถะ-ยา
แปลว่า เมืองแห่งเส้นทาง
ประกอบด้วย ธานี + รัถยา

“ธานี”
“ธานี” อ่านว่า ทา-นี
“ธานี” ก็แปลว่าเมืองเหมือนกัน และใช้เป็นคำท้ายชื่อจังหวัด ๕ จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี  อุดรธานี  อุบลราชธานี  ปทุมธานี และสุราษฎร์ธานี  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเมืองจำลอง เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า ดุสิตธานี  นอกจากนี้ ธานี ยังใช้ในคำว่า ราชธานี  หมายความว่า เมืองหลวง


“รัถยา”
“รัถยา” อ่านว่า รัด-ถะ-ยา
“รัถยา” เป็นรูปคำสันสกฤต
“รัถยา” บาลีเป็น “รจฺฉา” (รัด-ฉา)
“รจฺฉา” แปลตามศัพท์ว่า “เส้นทางอันคนเดินทางขีดขึ้น” (คือเดินจนเป็นเส้นทาง)
“รจฺฉา” ภาษาอังกฤษว่า road (ถนน)ในบาลีมีรากศัพท์มาจากคำว่า “รถ” มี “รถ” ก็ต้องมี road ถึงจะแล่นไปได้ต้องอาศัยกัน

“รัถยา” ในภาษาสันสกฤต หมายถึง รัถย์ , ม้าเทียมรถ , หมู่รถ, รถหมู่หนึ่ง ,ถนนหลวง ,ล้อ, จักร์ (wheel)


“กรุงเทพอภิวัฒน์”
อ่านว่า กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด
แปลว่า ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
ประกอบด้วย กรุง + เทพ +อภิ + วัฒน์

“กรุง” 
เป็นคำไทยแท้ แปลว่า เมือง,เมืองหลวง มีความหมายตรงกับคำว่า นคร (นะ-คะ-ระ) ในภาษาสันสกฤต

“เทพ”
“เทพ” อ่านว่า เทบ 
“เทพ” ในภาษาบาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) มีความหมายว่า เทพเจ้า, เทวดา , พระยม, ความตาย , สมมติเทพ, พระราชา, ฟ้า, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน ในภาษาไทย “เทพ” มีความหมายเด่นเฉพาะว่า เทพเจ้า หรือ เทวดา

“อภิ”
“อภิ” อ่านว่า อะ-พิ
“อภิ” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต
“อภิ” คือคําประกอบหน้าศัพท์ที่มีความหมายว่า ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ, เช่น อภิรมย์ แปลว่า ยินดียิ่ง , อภิญญาณ แปลว่า ความรู้วิเศษ , อภิมนุษย์ แปลว่า มนุษย์ที่เหนือมนุษย์ทั้งหลาย

“วัฒน์”
“วัฒน์” ภาษาบาลีว่า “วฑฺฒน”
“วฑฺฒน” อ่านว่า วัด-ทะ-นะ
“วฑฺฒน” แปลตามศัพท์ว่า “การเจริญ”
“วฑฺฒน” ในบาลีมีหลายความหมาย มากกว่า “การเจริญ” หรือ “ความเจริญ”
“วฑฺฒน” ในภาษาไทยเป็น “วัฒน” (วัด-ทะ-นะ) มีคำอื่นสมาสท้าย) “วัฒนะ” (วัด-ทะ-นะ, อยู่ท้ายคำ)  หรือ “วัฒน์” (วัด, อยู่ท้ายคำ) หมายถึง ความเจริญ, ความงอกงาม


พระราชทานชื่อรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) “นครวิถี” สีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) “ธานีรัถยา” หมายถึง เส้นทางของเมือง สถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

จากที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลว. 2 กันยายน 2565 แจ้งกระทรวงคมนาคมทราบว่า สลค.ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี” อ่านว่า “นะ-คอน-วิ-ถี” (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง

2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 “ธานีรัถยา” อ่านว่า “ทา-นี-รัด-ถะ-ยา” (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง

3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร


คำศัพท์ท่านเลือกใช้ ชวนชม
นครวิถีสม สืบสร้าง
ธานีรัถยารมย์ เริงรื่น
กรุงเทพอภิวัฒน์อ้าง อรรถแจ้งแถลงสารฯ

บาลีวันละคำ ควรจดจำนำสื่อสาร
คนไทยใช้มานาน ร้องเรียกขานผ่านทั่วไป

วิถีชีวิตคน ชาวชนเมืองเรืองวิไล
นครวิถีใน สังคมไทยได้ทราบกัน

เมืองแห่งเส้นทางดี ธานีรัถยานั่น
เส้นทางอย่างครบครัน รถสัญจรท่องเที่ยวไกล

กรุงเทพอภิวัฒน์ เจริญจรัสสมัย
กรุงเทพแดนกรุงไกร เมืองหลวงไทยในแดนดินฯ

สิ้นศัพท์สำหรับรู้ เรียนมี
ประเภทตามบาลี เลิศล้วน
พอประจักษ์จำดี โดดเด่น
พร้อมอรรถจัดครบถ้วน ทั่วหน้าได้ชมฯ


ขอบคุณบทกลอน
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก 
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ขอบคุณภาพประกอบ
Google

เรียบเรียงโดย
กลุ่มภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *