“เชียงใหม่”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดเชียงใหม่

“เชียงใหม่”
มีชื่อในตำนานว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์”
อ่านว่า นบ-บุ-รี-สี-นะ-คอน-พิง
ประกอบด้วย นพบุรี + ศรี + นคร + พิงค์


“นพบุรี”
“นพบุรี” อ่านว่า นบ-บุ-รี
แปลว่า เมืองใหม่ 
ประกอบด้วย นพ + บุรี

“นพ” บาลีเป็น “นว” (นะ-วะ)
“นว” มี 2 ความหมาย
(1) ใหม่, สด, (new, fresh )ยังไม่ช้ำหรือเสื่อมเสีย, สะอาด, เร็วๆ นี้, ที่ได้มาหรือปฏิบัติเมื่อเร็วๆ นี้เอง, หนุ่ม, ยังไม่มีความชำนาญ, ไม่มีประสบการณ์ 
(2) เก้า (จำนวนเก้า 9)

“นว” จะหมายถึง “ใหม่” หรือ “เก้า” 
ต้องดูที่บริบท ในภาษาไทยมักใช้เป็นคําหน้าสมาส

“บุรี”
คำว่า “บุรี” ภาษาบาลี “ปุร” ในภาษาสันสกฤตใช้ “pura” ภาษากรีก “Polis” มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “buri” หรือ “bury” มีรากศัพท์มาจาก “Prussian” ปรัสเซีย หรือ พร็อยเซิน (เยอรมัน: Preußen) หรือ โบรุสซีอา (ละติน: Borussia) เป็นรัฐที่รุ่งเรืองที่สุดในบรรดารัฐทั้งหลายของชนชาติเยอรมัน แปลว่า เมือง เช่น Canterbury, Shrewbury

เมือง ในภาษาเหนือทางภาคพายับและเหนือขึ้นไป เรียกว่า “เชียง” หรือ “เจียง” เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงคำ เชียงของ

ในโลกตะวันออก เราพบศัพท์ที่มีรากเดียวกับคำว่า “บุรี” มากมาย 
ในอินเดียมีเมือง Jaipur, Udaipur, Khanpur, Vatapura, Rajwapura
ในปากีสถานมี Shikar Pur 
ในสิงคโปร์มี Singapore = Singh + pur 
(ภาษาสันสกฤต “city of the lion”)
ในมาเลเซียมี Kuala Lumpur

borough มีรูปอื่นๆอีกครับ เช่น burg, burgh, bher(e)gh 
German มีคำเรียกว่า “burg”
Latin มีคำเรียกว่า “parcus”
Greek มีคำเรียกว่า “pyrgos”
คำกลุ่มนี้แปลว่า fort, town 
(ที่มีความหมายแฝงว่า fortified = แข็งแรง)
ตัวอย่างชื่อเมือง เช่น St. Petersburg, Pittsburgh, Hamburg, Middlesborough


“ศรี”
“ศรี” เป็น “ศฺรี” ในสันสกฤต
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี”
“ศรี” บาลีว่า “สิริ” หรือ “สิรี”

คำว่า “สิริ” หมายความว่า
ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี

คำว่า “สิรี” หมายถึง
ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม

คำว่า “ศรี” หมายถึง
(1) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง
(2) ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(3) พลู (คำมลายู) (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี
(4) ผู้หญิง (คำเขมร) สี
(5) คำที่ใช้ในบทกลอน ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)


“นคร”
“นคร” บาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ
“นคร” เป็นคำทั้งบาลีและสันสกฤต
“นคร”แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปราสาทเป็นต้น”
“นคร” มีรากศัพท์มาจาก “นค”
“นค” อาคารสูง เช่นปราสาท

“นคร” ความหมายแต่เดิมในบาลี หมายถึง ป้อม, ที่มั่น, ป้อมปราการ ต่อมาจึงหมายถึง นครหรือเมือง (ที่มีป้อมค่าย)

“นคร” ในสันสกฤตหมายถึง นคร,บุรี, กรุง, เมืองเอก, ‘เมืองใหญ่หรือ ราชธานี (a town, a city, a capital or metropolis)

“นคร” ในภาษาไทยหมายถึง เมืองใหญ่ , กรุง


“พิงค์”
“พิงค์” อ่านว่า พิง
“พิง” อ่านว่า “ปิง” (ในภาษาทางเหนือ เสียง พ. ใช้ เสียง  ป. แทน) ซึ่งหมายถึง แม่น้ำปิง การที่เราเขียนชื่อแม่น้ำว่า “ปิง” นั้น เป็นการเขียนตามเสียงอ่าน หากเป็นรูปศัพท์ภาษาล้านนาแล้ว จะเขียนว่า “พิง”

ฉะนั้น เมื่อมีการตั้งชื่อเมือง โดยอิงภาษาบาลี จึงผูกศัพท์คำว่า “พิง” ใหม่ เป็น “พิงฺค”

“พิงฺคนครํ” หรือ “นครพิงค์”
หมายถึง เมืองแห่งลำน้ำพิง – ปิง นั่นเอง

นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เชียงหรือเจียง ออกเสียงตามภาษาถิ่นภาคเหนือ ในภาษาล้านนา แปลว่า เวียง หมายถึงเมืองที่มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบ ดังนั้น เชียงใหม่ หรือ เจียงใหม่ จึงแปลว่า เวียง หรือเมืองใหม่นั่นเอง) เป็นเมืองที่พญามังรายทรงเลือกทำเลที่ตั้ง โดยเห็นว่าเป็นเมืองที่ไกลจากการรุกรานของจีนราชวงศ์มองโกลมากกว่า เมืองเชียงราย เมืองหลวงเดิม ซึ่งปัจจุบันเมืองที่สร้างขึ้นใหม่นี้ก็คือจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ตามหลักสูตรการศึกษาของไทยมักกล่าวว่าเมืองเชียงใหม่นี้สร้างขึ้นโดยความ ร่วมมือของ 3 กษัตริย์เชื้อไท ได้แก่ พญามังราย พ่อขุนรามคำแหง (อาณาจักรสุโขทัย) และพ่อขุนงำเมือง (เมืองพะเยา) และในเอกสารล้านนาระบุว่า 3 กษัตริย์ เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานและอีกประการหนึ่งเนื่องจากต้องการพันธมิตร เพื่อต่อต้านการรุกรานของมองโกล โดยได้ตีอาณาจักรพุกามในพม่าปัจจุบันแตก ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้เกิดการร่วมมือกันของกษัตริย์ไททั้ง 3

เมืองเชียงใหม่ มีชื่อที่ปรากฏในตำนานว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาไทยมาตั้งแต่ พระยามังรายได้ทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.1839 โดยความร่วมมือของ 3 กษัตริย์เชื้อไท ได้แก่ พญามังราย พ่อขุนรามคำแหง (อาณาจักรสุโขทัย) และพ่อขุนงำเมือง (เมืองพะเยา) และในเอกสารล้านนาระบุว่า 3 กษัตริย์ เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานและอีกประการหนึ่งเนื่องจากต้องการพันธมิตร เพื่อต่อต้านการรุกรานของมองโกล โดยได้ตีอาณาจักรพุกามในพม่าปัจจุบันแตก ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้เกิดการร่วมมือกันของกษัตริย์ไททั้ง 3 พระองค์

ซึ่งปัจจุบัน ปี พ.ศ.2555 มี อายุครบ 715 ปี และเมืองเชียงใหม่ได้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องกันมาในประวัติศาสตร์ตลอดมา

เชียงใหม่ในอดีตมีฐานะเป็นนครหลวงอิสระ ปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณ 261 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 1839-พ.ศ. 2101) แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2101 เชียงใหม่ได้เสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า และได้ถูกปกครองโดยพม่ามานานกว่าสองร้อยปี

จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงช่วยเหลือล้านนาไทยจึงได้มีการทำสงครามเพื่อขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่และเชียงแสนได้สำเร็จ ภายใต้การนำของพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้านในการทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจาก เชียงใหม่และเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ขึ้นเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ โดยให้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในฐานะประเทศราชของกรุงรัตนโกสินร์ และราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน) ซึ่งเป็นเชื้อสายของพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ ก็ได้ปกครองเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองต่าง ๆ สืบต่อมา และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “รัตนติงสาอภินวบุรีเชียงใหม่”

ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราช โดยมีการจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า “มณฑลพายัพ” หรือมณฑลลาวเฉียง ต่อมาเชียงใหม่ได้มีการปรับปรุงการปกครองและยกฐานะขึ้นเป็น “จังหวัด” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงเทพมหานครและมีเชื้อสายของพระยากาวิละ ซึ่งเรียกว่า ตระกูลเจ้าเจ็ดตน ปกครองเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนและลำปางสืบต่อมา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราช ได้ยกเลิกการมีเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลพายัพ และเมื่อปี พ.ศ.2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรับปรุงการปกครองเป็นแบบจังหวัด เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบัน


ตราสัญลักษณ์จังหวัดเชียงใหม่
รูปช้างเผือกหันหน้าตรงในเรือนแก้ว
ช้างเผือก หมายถึง ช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ นำทูลเกล้าถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอก 
เรือนแก้ว หมายถึง ดินแดนที่พระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรือง จนเคยเป็นสถานที่สำหรับทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. 2020


คำขวัญจังหวัดเชียงใหม่
ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์


ขอบคุณภาพประกอบ
Google

เรียบเรียงโดย
กลุ่มภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *