“นราธิวาส”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดนราธิวาส

“นราธิวาส”
“นราธิวาส” อ่านว่า นะ-รา-ทิ-วาด
แปลว่า เมืองที่อยู่ของผู้มีบารมีที่ยิ่งใหญ่
ประกอบด้วย นร + อธิ + วาส

“นร”
“นร” อ่านว่า นะ-ระ หรือ นอ-ระ
“นร” เป็นคำบาลีและสันสกฤต
“นร” หมายถึง คน , ผู้ชาย
“นร” โรมันเขียน “Nora”
“Nora” อ่านว่า “โนราห์”
“โนราห์” มาจาก ”มโนราห์”
”มโนราห์” คือ ศิลปะพื้นเมืองภาคใต้
“Nora” ภาษากรีก แปลว่า “แสงสว่าง”
“Nora” ภาษาละติน แปลว่า “เกียรติยศ”

“อธิ”
“อธิ” อ่านว่า อะ-ทิ
“อธิ” เป็นคำบาลีและสันสกฤต
“อธิ” แปลว่า ยิ่ง,ใหญ่,เหนือ,พ้น,เจริญ
“อธิ” ถูกใช้นำหน้าคำบาลีสันสกฤต
เช่น อธิการ,อธิการบดี,อธิราช

“วาส”
“วาส” อ่านว่า วา-สะ
“วาส” เป็นรากศัพท์ของ “วาสนา”
“วาสนา” บาลีอ่านว่า วา-สะ-นะ
“วาสนา” ภาษาไทยอ่านว่า วาด-สะ-หนา
“วาสนา” เป็นคำบาลีสันสกฤต ที่มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นภาษาไทย

“วาสนา” ในทางภาษาบาลี หมายถึง ความประพฤติทางกายวาจาที่คุ้นชิน คุ้นเคย ติดตัวมาเป็นเวลานาน และแก้ไขได้ยาก เพราะติดตัวมาหลายภพชาติ มีทั้งทางที่ดี และ ไม่ดี

“วาสนา” ในภาษาไทย ถูกใช้ในความหมายที่คลาดเคลื่อนจากเดิมไปมาก คือใช้ในความหมายว่า เป็นกุศลผลบุญที่สืบมาแต่ชาติก่อน ซึ่งผิดจากความหมายเดิมในภาษาบาลีมาก

จังหวัดนราธิวาส
นราธิวาสเดิมชื่อ “มะนาลอ” เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำบางนราติดชายทะเลอ่าวไทย ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านบางนราถูกจัดให้อยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี ต่อมาถูกย้ายมาอยู่ในปกครองของเมืองระแงะ ซึ่งเป็น เมืองหนึ่งในมณฑลปัตตานี ปี พ.ศ. ๒๓๕๕ เกิดมี โจรร้ายปล้นสะดมมากมายในมณฑลปัตตานี เหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะจัดการลงได้ จึงขอความช่วยเหลือ ไปยังพระยาสงขลา ให้ช่วยมาปราบปรามจนสำเร็จ พร้อมทั้งวางนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดกบฏใน ๔ หัวเมืองปักษ์ใต้ โดยมีพระยาปัตตานี พระยาหนองจิก พระยายะลา และพระยาระแงะ สมคบร่วมกัน พระยาสงขลา จึงยกกำลังมาปราบปรามโดยมี พระยายะหริ่งเป็นกำลังสำคัญช่วยทำการปราบปรามจนสำเร็จ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการ เมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะที่หลบหนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจาก บ้านระแงะมาตั้งใหม่ ที่ตำบลตันหยงมัส หรืออำเภอระแงะ ในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกการปกครองแบบเก่า ขณะเดียวกับ บ้านบางนราได้เจริญขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ จนกลายเป็น เมืองศูนย์กลางทางการค้าขายทั้งทางบก และทางทะเล และเพื่อให้การดูแลและขยายเมืองเป็นไปด้วยดี ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมปีเดียวกัน จึงมีประกาศ พระบรมราชโองการให้แยก ๗ หัวเมือง ออกจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี ในช่วงนี้ได้ย้าย ที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมะนาลอ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ได้เสด็จ พระราชดำเนินยังบ้านบางนราในวันที่ ๑๐ มิถุนายน และพระราชทานชื่อว่า นราธิวาส อันมีความหมายว่า ที่อยู่ของคนดี ถัดมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่โดยการ เปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาส จึงเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดนราธิวาส นับแต่นั้นเป็นต้นมา

สัญลักษณ์จังหวัด
รูปเรือใบแล่นกางใบ หมายถึง ที่ตั้งอยู่ริมทะเล มีการค้าขาย การประมง และการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในเรือมีรูปช้างเผือกประดับเครื่องคชาภรณ์อยู่ในวงกลม หมายถึง ช้างสำคัญ คู่บุญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อว่า “พระศรีนรารัฐราชกิริณี”

คำขวัญประจำจังหวัด
“ ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา
นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ
แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน ”

นราธิวาสประจักษ์เมืองปักษ์ใต้
เคยยิ่งใหญ่เจ็ดนครกำจรชื่อ
มะนาลอชื่อเก่าดังเล่าลือ
นามบ้านถืออาชีพชาวประมง

ริมปากอ่าวไทยประเทศแดนเขตขัณฑ์
ปกครองกันนิยมสมประสงค์
บางนราในสายบุรีที่มั่นคง
เมืองระแงะยืนยงยังทนทาน

จนมาเป็นหัวเมืองเลื่องลือนัก
เจอศึกหนักกบฏพ่ายหลายคนขาน
เปลี่ยนมาอยู่มะนาลอพอชื่นบาน
บริหารในมณฑลปัตตานี

ด้วยเดชะพระมหามงกุฎเกล้า
เสด็จมาโปรดชาวเราทุกราศี
สู่บางนราประทานนามงามโสภี
นราธิวาสฐานที่คนดีครองฯ

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก
วัดลาดปลาเค้า กทม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *