“ปัตตานี”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดปัตตานี

นครรัฐที่ยิ่งใหญ่เมืองใต้แท้
ทั่วโลกแน่ต่างรู้จักมักคุ้นก่อน
นามปัตตานีศรีมหานคร
เรือค้าจรคับคั่งอยู่ดั้งเดิม

ลังกาสุกะ แดนแสนสุกใส
เคยยิ่งใหญ่ทุกการศึกกระฮึกเหิม
ทั้งพาณิชย์สินแร่แต่ดั้งเดิม
ยังพูนเพิ่มขนาดทรัพยากร

จนกลายเป็นเมืองนารีศรีกษัตริย์
เป็นประวัติจารึกไว้ให้กระฉ่อน
ปืนใหญ่พระยาตานีศรีนคร
คู่บ้านเกิดเมืองนอนถึงปัจจุบัน

จนกลายเป็นเจ็ดนครกำจรชื่อ
ยังเลื่องลือแดนใต้ได้สร้างสรรค์
จนเหลือแค่ปัตตานีที่ผูกพัน
ยังยืนยันหลักฐานแต่นานมาฯ

“ปัตตานี”
ในอดีตเคยมีชื่อว่า “ลังกาสุกะ”
“ลังกาสุกะ” อ่านว่า ลัง-กา-สุ-กะ
“ลังกาสุกะ” เป็นคำสันสกฤต
แปลว่า แดนที่มีแต่ความสุขอันล้นพ้น
ประกอบด้วย ลังกา + สุกะ

“ลังกา”
“ลังกา” อ่านว่า ลัง-กา
“ลังกา” รากศัพท์มาจาก “ลงฺกา”
ลงฺกา ลังกา ศรีลังกา
“ลังกา” เป็นคำสมาสของ “ลังกะ”
“ลังกะ” แปลว่า แดนสุกสกาว

“สุกะ”
“สุกะ” อ่านว่า สุ-กะ
“สุกะ” เป็นคำสันสกฤต
“สุกะ” ภาษาบาลีว่า “สุข”
“สุข” บาลีอ่านว่า สุ-ขะ
“สุข” มีรากศัพท์มาจาก
(1) “สุขม” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
(2) “สุขน” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
(3) “สุขา” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
(4) “สุขฺ” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
(5) “สุข” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”

จากตำนาน พงศาวดารเกอดะฮ์ อาณาจักรนี้ก่อตั้งและตั้งชื่อโดยมะโรง มหาวงศ์ อีกข้อเสนอหนึ่งกล่าวว่า ชื่ออาณาจักรอาจมาจากการสมาสระหว่าง ลังกา กับ อโศก กษัตริย์นักรบชาวฮินดูราชวงศ์โมริยะในตำนาน และนักล่าอาณานิคมชาวอินเดียยุคแรกของคอคอดมลายูได้ตั้งชื่ออาณาจักรลังกาสุกะ เพื่อยกย่องเกียรติของพระองค์

ลังกาสุกะเป็นนครรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 รุ่งเรืองยาวนานถึง 1,400 ปี จึงเสื่อมสลายไป ไม่ใช่เพราะถูกอำนาจใดเข้าตี หากแต่ทะเลถอยห่างตัวเมืองออกไปทุกที จนผู้คนพากันทิ้งเมือง ซ้ำโดนน้ำท่วมโคลนถมทับตัวเมืองแทบหมด เพิ่งขุดเจอซากไม่นานมานี้ เชื่อกันว่าคนในหมู่บ้านกาแลจิน อ.เมืองปัตตานีปัจจุบันคือผู้สืบเชื้อสายชาวเมืองลังกาสุกะ ที่เป็นลูกครึ่งชาวจีนกับคนพื้นเมืองที่ต้องทิ้งเมืองเก่ามาอยู่ในปัตตานีเมื่อ 1,000 กว่าปีที่แล้ว

อาณาจักรโบราณยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่ามีพื้นที่คลุมไปถึงตอนเหนือมาเลเซีย เพราะพบสิ่ง ก่อสร้างโบราณ แบบเดียวกับที่พบในปัตตานีแถวริมฝั่งแม่น้ำบูจังและปาดังลาวาส (ปากแม่น้ำลาวาส) ในรัฐเคดาห์ หนังสือเหล่านั้นเรียกอย่างจืดชืดไม่ดึงดูดใจสักนิดว่า “เมืองโบราณยะรัง” เพราะซากเมืองเก่าพบที่ อ.ยะรัง ทั้งที่มีความเก่าแก่รุ่งเรืองมาก่อน อาณาจักรศรีวิชัยและอาณาจักรทวาราวดีตั้ง 500 ปี ศรีวิชัยและทวาราวดีตั้งในพุทธศตวรรษที่ 12 ลังกาสุกะเป็นนครรัฐที่โลกตะวันตกตะวันออก รู้จักกันแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เมืองโบราณยะรังจึงไม่ใช่เมืองเก่าธรรมดา หากแต่เป็นเมืองท่านครรัฐยิ่งใหญ่ สมัยโบราณเก๋ากึ๊กในภูมิภาคนี้โดยแท้

เมืองโบราณที่ กรมศิลปากร กำลังขุดแต่งอยู่ที่ อำเภอยะรัง ในขณะนี้คือ ศูนย์การปกครอง อาณาจักรลังกาสุกะ ในเมื่อบันทึก ชาวอินเดียและ ชาวอาหรับ ที่เรียกเมืองนี้ว่า “ลังกาสุกะ” กับบันทึก ของชาวจีนที่เรียก “หลาง หย่า ซุ่ย” ล้วนระบุทิศทางและ ที่ตั้งตรงกันหมด น.ส.พรทิพย์ พันธุโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ โบราณคดี ผู้ควบคุมการขุดแต่งและ บูรณะมาตั้งแต่แรกถึง 16 ปี อธิบายว่า ปัตตานีวันนี้คือ ดินแดนเกิดใหม่ เมื่อทะเลถอย ห่างฝั่งออกไปทุกที ลังกาสุกะเลยกลายเป็น เมืองภายในแผ่นดิน อยู่ห่างชายฝั่งทะเล ในวันนี้เกือบ 25 กม. ชายฝั่งบริเวณท่าเรือใหญ่ครั้งโน้น ปัจจุบันนี้คือ คลองปาเละหมู่บ้านกาแลบูซา (ท่าเรือใหญ่) หมู่บ้านเทียระยา (หมู่บ้านเสากระโดงเรือ) ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง ปัตตานี

ร่องรอยทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นเมืองเรียงกันถึง 3 เมืองด้วยกัน ได้แก่ เมืองที่กำลังขุดอยู่ที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านปราแว (พระราชวัง) อำเภอยะรัง บ้านปราแวอยู่ริมทะเล มีลักษณะ ค่ายคูประตูหอรบตามมุมเมือง คาดว่าน่าจะเป็นประชาคม 3 แห่ง ที่อยู่ร่วมกันมากกว่าเมือง โดยรวมแล้วพื้นที่ดังกล่าวนี้ พบร่องรอยทางโบราณคดีถึงกว่า 40 แห่ง ลงมือขุดไปเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ชิ้นใหญ่ ๆ ที่กำลังขุดอยู่เป็นศาสนสถานใน ศาสนาพราหมณ์และ พุทธศาสนา ทั้งพบคำจารึกภาษาปัลลวะอินเดียโบราณและภาษาสันสกฤตด้วย บ่งบอกอย่างเด่นชัด แรกเริ่มนั้นชาวลังกาสุกะนับถือศาสนาพราหมณ์ เปลี่ยนมาถือพุทธ แล้วเปลี่ยนมาเป็นอิสลามตามลำดับ

ลังกาสุกะเฟื่องเนื่องมาจากที่ตั้งเป็นกึ่งกลางเส้นทางค้าขายโลกตะวันตกและตะวันออก เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและศูนย์ค้าเครื่องเทศสินค้าสำคัญของภูมิภาคนี้ ที่ดังที่สุด ได้แก่ไม้หอม และกำยาน ซึ่งอินเดีย อาหรับยันยุโรปต่างต้องการอย่างมาก น่าเชื่อว่ากำยานชั้นดีที่สุดเป็นกำยานลังกาสุกะ เพราะเครื่องหอมทำจากกำยานที่โลกอาหรับ และชาติมุสลิมใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นเครื่องหอม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์เจือปนไม่ผิด หลักทางศาสนาที่ชื่อว่า “ไซมีส เบนโซอีน” ที่ยังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ลังกาสุกะเป็นท่าเรือ ส่งออกที่ใหญ่มาก

ลังกาสุกะอาจเป็นอาณาจักรเดียวในโลกที่ล่มสลายไปไม่ใช่เพราะการสงครามหรือโรคระบาด หากเกิดจากทะเลถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม ผู้คนก็อพยพทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปอยู่ที่อื่นกันหมด พร้อม ๆ กับอาณาจักรอื่นใกล้เคียงเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่

จากตำนาน ไทรบุรี ปัตตานี กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะ ของพระเจ้ามะโรงมหาวงศ์หรือราชามารงมหาวังสา ต่อมาคำว่าลังกาสุกะค่อย ๆ เลือนหายไป กลายเป็นคำว่าปัตตานีดารุสสาลามเข้ามาแทนที

ตราประจำจังหวัดปัตตานี
ปืนใหญ่นางพญาตานี

คำขวัญประจำจังหวัด
บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยนำ้ตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *