“พิษณุโลก”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดพิษณุโลก

พิษณุโลก เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองหลวง
ดั่งแดนสรวงพระวิษณุเทพปกป้อง
ตรีมูรติโอบอุ้มคอยคุ้มครอง
ผองพี่น้องอยู่เย็นเป็นสุขดี

มีชื่อเก่าสรสลวงน้ำสองกระแส
เรียกสองแควลำธารละหานที่
เมืองอกแตกสองฝั่งตั้งธานี
อยู่หลายปีทั้งบ้านเรือนย่านเรือนแพ

เป็นลำน้ำมงคลดลสองสาย
กำหนดหมายเมืองงามตามกระแส
ไทวยวนทีศรียมนาแล
ล้ำเลิศแท้ในแดนเหนือเหลือคณา

มีเอกอุตม์พระพุทธชินราช
ไท้ทวยราฎษร์ล้วนกราบไหว้วิไลค่า
พระพุทธชินสีห์พระศรีศาสดา
สามองค์พาอวยไชยให้โชคดี

ถิ่นประสูติพระนเรศวรมหาราช
กอบกู้ชาติชาวไทยให้สดศรี
มองเรือนแพแลล่องน้ำน่านนที
ธรรมชาติมีทั้งถ้ำน้ำตกวิไล

กินกล้วยตากอร่อยปานรสหวานฉ่ำ
พิษณุโลกทุกคืนค่ำยังจำได้
เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองหลวงของเมืองไทย
ยังยิ่งใหญ่หยัดยืนทุกคืนวันฯ

“พิษณุโลก”
อ่านว่า พิด-สะ-นุ-โลก
แปลว่า เมืองสวรรค์ของพระนารายณ์
ประกอบด้วย พิษณุ + โลก

“พิษณุ”
“พิษณุ” เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต นั้นจะแตกต่างจากภาษาอื่น คือ “ ว แหวน “ กับ “ พ พาน “ สามารถใช้แทนกันได้โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยน

“พิษณุ” เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต
“พิษณุ” หมายถึง “วิษฺณุ” vishnu
“วิษฺณุ” อ่านว่า วิด-สะ-นุ
“วิษฺณุ” ภาษาไทยเขียนแบบสันสกฤต “วิษณุ”
“วิษณุ” หมายถึง “ผู้คุ้มครอง” เป็นชื่อพระเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของชาวฮินดู เรียก เป็นสามัญว่าพระนารายณ์, พระวิษณุรวมกับ พระพรหมและพระศิวะ (พระอิศวร) ได้ชื่อว่า ตรีมูรติ

“โลก”
“โลก” บาลีอ่านว่า โล-กะ
“โลก” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต
“โลก” มีรากศัพท์มาจาก
(1) ลุชฺ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
(2) ลุจฺ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
(3) โลกฺ แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่”
(4) โลกฺ แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”

โลก โลกะ loka ในภาษากรีกมีคำว่า bios ไบออส หมายถึง สิ่งมีชีวิต ที่มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า logos โลกอส ที่หมายถึง ความคิดและเหตุผล

ส่วนชื่อ “สองแคว” นั้นมาจาก “สรลวงสองแคว”
โดยคำว่า “สรลวง” ไม่ใช่ คำว่า “สระหลวง”
แต่มาจากคำเขมรว่า “ชฺรลวง” แปลว่า “ลำน้ำ”
รวมกันจึงมีความหมายว่า “ลำน้ำสองแคว” หรือ “ลำน้ำสองกระแส” สอดคล้องกับชื่อในภาษาบาลีว่า

“ไทวยนทีศรียมนา”
อ่านว่า ไท-วะ-ยะ-นะ-ที-สี-ยม-มะ-นา
แปลว่า “ลำน้ำอันเป็นสิริที่มีสองสาย”

“ไท”
“ไท” ภาษาบาลีว่า “เทยฺย”
“เทยฺย” อ่านว่า เทย-ยะ (ไท-ยะ)
“เทยฺย” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันพึงให้”
หมายถึง ของควรให้, ของควรเซ่นสรวง ,ควรให้ ,ควรได้รับการให้, ควรแก่การถวาย

“วย”
“วย” อ่านว่า วะ-ยะ
“วย” ในภาษาไทยใช้ “วัย”
“วย” แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ถึงความเสื่อมไป” หมายถึง อายุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยรุ่น, วัยฉกรรจ์, วัยหนุ่ม

“นที”
“นที” อ่านว่า นะ-ที
“นที” มีรากศัพท์มาจาก
(1) นทฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่งเสียงทุกขณะ”
(2) นท แปลตามศัพท์ว่า “ส่งเสียงไปไหลไป”
หมายถึง แม่น้ำ แม่น้ำเมื่อไหลไปย่อมเกิดเสียงเสมอ คำแปลตามศัพท์จึงว่า “ส่งเสียงทุกขณะ” “ส่งเสียงไปไหลไป”

“ศรี”
“ศรี” บาลีว่า “สิริ” หรือ “สิรี”
“ศรี” ในสันสกฤตจะมีจุด “ศฺรี”
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี”
หมายถึง สิริ, สิริมงคล

“ยมนา”
“ยมนา” อ่านว่า ยม-มะ-นา
“ยมนา” คือ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ยมุนา (Yamuna) เป็นสาขาหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำคงคา มีกำเนิดจากธารน้ำแข็ง ยมุโนตรี (Yamunotri Glacier) ที่ความสูง 6,387 เมตร แม่น้ำยมุนามีความยาวทั้งสิ้น 1,376 กิโลเมตร ไหลผ่านรัฐต่างๆ เช่น อุตตรขันธ์ หริยาณา อุตตรประเทศ หิมาจัลประเทศ และเดลี โบราณสถานที่มีชื่อเสียงก้องโลกอย่าง ทัชมาฮาล แห่งเมืองอักรา ก็ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมุนาด้วย
บริเวณใกล้กับแหล่งกำเนิดของแม่น้ำยมุนายังมีศาสนสถานที่ชาวฮินดูนับถือว่า ศักดิ์สิทธิ์มาก มีชื่อว่า ยมุโนตรี (Yamunotri) หรือ ยมโนตรี (Yamnotri) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,235 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นวัดที่อุทิศให้กับพระแม่ยมุนา เทวีประจำแม่น้ำ ซึ่งศาสนาสถานนี้จะปิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม

ยุมุนา เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู และได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทวียมุนา ซึ่งตามเทวตำนานเล่าว่าเป็นธิดาของพระสุรยะ เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ และเป็นพี่/น้องสาวของพระยม เทพเจ้าแห่งความตาย เทวียมุนาจึงรู้จักในอีกนามว่ายมีเทวี ตามความเชื่อกระแสหลักของฮินดูเชื่อว่าการลงอาบน้ำในแม่น้ำยมนุนาจะช่วงชะล้างความทรมาณจากการตาย

จังหวัดพิษณุโลก
เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มานานหลายชั่วอายุคน เมืองเดิมพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม อยู่ห่างจากที่ตั้งตัวเมืองปัจจุบันลงไปทางใต้ประมาณ 5 กม. เรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนเส้นทางเดินออกห่างไปประมาณ 10 กม.ที่ตั้งเมืองสองแควเก่าในปัจจุบันคือ บริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของพิษณุโลก

ในสมัยสุโขทัย
ครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ได้โปรดฯให้ย้ายเมืองสองแควมาตั้งอยู่ ณ.ตัวเมืองในปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ.1900 แต่ยังคงเรียกว่าเมืองสองแควเรื่อยมา โดยให้พระไสลือไทราชโอรสมาครองเมืองในฐานะเมืองลูกหลวง

ต่อมาในสมัยอยุธยา
เมืองสองแควเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก และทวีความสำคัญมาก เพราะโดยลักษณะที่ตั้งเมืองนั้นพิษณุโลก อยู่กึ่งกลางระหว่ากรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรฝ่ายเหนือ ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของไทยอยู่นานถึง 25 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2005 – 2030 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับที่เมืองนี้และทรงผนวชที่วัดจุฬามณีด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองพระราชสมภพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในอดีตเคยเป็นเมืองราชธานีฝ่ายเหนือของเมืองแถบลุ่มแม่ลุ่มแม่น้ำยมและน่าน มีพระมหาอุปราชปกครองติดต่อกันมาหลายพระองค์

ในสมัยรัตนโกสินทร์
พิษณุโลกยังคงเป็นเมืองเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑล เรียกว่ามณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน

ตราประจำจังหวัด
รูปพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามที่สุดของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ.พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ในเมืองพิษณุโลกเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จึงนำมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด

คำขวัญประจำจังหวัด
พระพุทธชินราชงามเลิศ
ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร
สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ
หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก
ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *