“มุกดาหาร”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดมุกดาหาร

เมืองแห่งแก้วมุกดาสง่าศรี
ตรงปากห้วยบังมุกมีแดนอีสาน
รัศมีองค์พระธาตุส่องผ่องโอฬาร
ไข่มุกในหอยกาบประมาณแต่นานนม

จึงเป็นเมืองพัฒนามุกดาหาร
อยู่เขตบ้านเมืองไทยได้สุขสม
ยังรุ่งเรืองประเทืองรัฐจรัสนิยม
ให้ชื่นชมตลอดกาลตราบนานเอยฯ

“มุกดาหาร”
อ่านว่า มุก-ดา-หาน
แปลว่า เมืองแก้วมุกดาหาร
ประกอบด้วย มุกดา + หาร

“มุกดา”
“มุกดา” เป็นภาษาบาลีว่า “มุตฺตา”
“มุตฺตา” อ่านว่า มุด-ตา
“มุตฺตา” แปลว่า ไข่มุก
“มุตฺตา” สันสกฤตว่า “มุกฺตา”
“มุกฺตา” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤต “มุกดา”
“มุกดา” คือ ชื่อรัตนะอย่างหนึ่งในพวกนพรัตน์ สีหมอกอ่อนๆ หมายถึง แก้วมุกดา , มุก , ไข่มุก

“หาร”
“หาร” บาลีอ่านว่า หา-ระ
“หาร” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต
“หาร” แปลตามศัพท์ว่า สิ่งซึ่งอาจถือเอาได้ ,การคว้าเอา, การถือเอา

“หาร” ในภาษาไทยหมายถึง
(1) สิ่งที่เอาไปได้ การนําไป, การถือเอา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น บริหาร อวหาร
(2) แบ่งส่วนเท่า ๆ กัน (ใช้แก่วิธีเลข) เรียกเครื่องหมายรูปดังนี้ ÷ ว่า เครื่องหมายหาร

“หาร” ภาษาอังกฤษ “share”

ประวัติจังหวัดการตั้งเมืองมุกดาหาร
เจ้าจันทรสุริยวงษ์และพรรคพวกได้ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิม ใกล้พระธาตุอิงฮังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ต่อมาอีกหลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรี ผู้เป็นบุตร ได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก

เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก) เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว (คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)

ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า “พระเจ้าองค์หลวง” เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ(ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ(ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้) ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132(พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน (รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย)

ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระยาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร

ต่อมาเมืองมุกดาหารนั้น ได้มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของมณฑลอุดร จนในปี พ.ศ. 2450 มีการปรับเปลี่ยนระบบการปกครอง มณฑลอุดรก็เลยถูกเปลี่ยนเป็น จังหวัดอุดร และเมืองมุกดาหารก็ถูกรวมเข้าไปเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม ชื่อว่า อำเภอเมืองมุกดาหาร มาจนถึงปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลก็ได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้ง จังหวัดมุกดาหาร ขึ้นมาเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

ตราประจำจังหวัดมุกดาหาร
ภายในมีปราสาทชื่อ สองนางสถิตย์ ภายในปราสาทองค์กลางมีแก้วมุกดาหารอยู่บนพาน ใต้พานมีผ้าทิพย์รองรับ หน้าผ้าทิพย์มีอักษรไขว้ชื่อย่อจังหวัด ในปราสาทองค์ริมทั้งสองข้าง มีบายศรียนตะลุ่มอันเป็นเครื่องบูชาของชาวอีสาน เบื้องหลังมีพระธาตุพนมซึ่งจังหวัดมุกดาหารแยกมา และเคยอยู่ในอาณาจักรโคตรบูรณ์เดียวกัน มีแนวแม่น้ำโขงอยู่ด้านหลัง ด้านตะวันออก พระอาทิตย์กำลังทอแสงหลังหมู่ก้อนเมฆ 2525 เป็นปีที่ตั้งจังหวัดมุกดาหาร

คำขวัญประจำจังหวัดมุกดาหาร
หอแก้ว สูงเสียดฟ้า ผาเทิบแก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

3 Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *