“สตูล”
ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดสตูล
สตูล สโตย หรือกระท้อน
เป็นนครชายทะเลเสน่หา
หรือเมืองพระสมุทรเทวา
เทวดาปกป้องคุ้มครองภัย
ดูสะอาดเรียบง่ายหลายสถาน
ดูชื่นบานทั่วทิศจิตแจ่มใส
ดูสตูลคนนิยมชมทั่วไป
ดูปักษ์ใต้สุดบรรยายมิหน่ายเลยฯ
“สตูล” มาจากคำภาษามาลายูว่า “สโตย”
“สโตย” แปลว่า กระท้อน อันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่เมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็น ภาษามาลายูว่า “นครสโตยมำบังสการา”
“นครสโตยมำบังสการา”
แปลเป็นภาษาไทยว่า “เมืองแห่งพระสมุทรเทวา”
“พระสมุทรเทวา”
อ่านว่า พะ-สะ-มุด-เท-วา
แปลว่า เทวดาปกป้องคุ้มครองภัย
ประกอบด้วย พระ + สมุทร + เทวา
“พระ”
“พระ” ภาษาบาลีว่า “วร”
“วร” บาลีอ่านว่า วะ-ระ
“วร” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ
“วร” แปลง ว เป็น พ เป็น “พร” เป็นคำไทย
“พร” อ่านว่า พอน
“พร” เป็นคําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร
“สมุทร”
“สมุทร” เป็นคำยืมมาจากสันสกฤต “สมุทฺร”
“สมุทฺร” ภาษาบาลีว่า “สมุทฺท”
“สมุทฺท” อ่านว่า สมุด-ทะ
“สมุทฺท” เขียนแบบไทย “สมุททะ”
“สมุททะ” มาจาก สํ บทหน้าแปลว่า เสมอ ผสมกับ “อุทะ“ รากศัพท์ แปลว่า เต็ม (สํ + อุทะ = สมุทะ) แปลงว่า เต็มเสมอ แปลตามศัพท์ว่า ทำน้ำให้เต็มเสมอด้วยชายฝั่ง หมายถึง ทะเลลึก ชื่อเรียกทะเลขนาดใหญ่ มหาสมุทร
“เทวา”
“เทว” เป็นทั้งคำบาลีสันสกฤต
“เทวา” ภาษาบาลีว่า “เทว”
“เทว” อ่านว่า เท-วะ
“เทว” แปลตามศัพท์ว่า
(1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน”
(2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
“เทว” แปลง ว เป็น พ เป็นคำไทย “เทพ”
“เทว” หรือ “เทพ” เขียนเป็นโรมัน “deva”
“เทพ” แปลว่า ชาวฟ้า ชาวสวรรค์ ถ้าเป็นเพศหญิงจะเป็น เทวี เทพี เทฺยาสฺ (dyaus) เป็นคำร่วมเชื้อสาย(Cognate) เดียวกับ Zeus, Jupiter (Djous patēr) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า (Daylight-sky god)ในภาษากรีกและละติน คำในภาษายุโรปที่มีความหมายนี้ เช่น day divine diva ภาษาอิตาเลียนซึ่งแปลว่าสตรีเทพ (Goddess)ใช้ในภาษาอังกฤษ หมายถึงศิลปินหญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในภาษาไทย คำว่า “เทพ” ก็ใช้เป็นคำสแลงเรียกผู้ที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม และยังตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามันมีเกาะแก่งที่สวยงาม อุดมด้วยธรรมชาติป่าเขาที่สมบูรณ์ สตูลจะเป็นจังหวัดที่น่าสนใจ เพราะทั้ง ‘เฉียด’ กับการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และ ‘เฉี่ยว’ กับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ที่แม้บางแหล่งท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็เป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อย มีเกาะสวยๆที่กำลังไต่อันดับความนิยมอยู่ในลำดับต้นๆ อย่าง เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะเภตรา เกาะบุโหลน เหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของจังหวัดสตูล
สตูลมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย นั่นก็คือ“อุทยานแห่งชาติตะรุเตา”ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ ได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ สัตว์ป่า และสัตว์ทะเลนานาชนิด
เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ “เกาะตะรุเตา” ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด เคยเป็นทั้งสถานที่กักกันนักโทษการเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องของความโหดร้ายทารุณ และยังมีเรื่องราวของโจรสลัดตะรุเตาที่น่ากลัวคอยปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา
อุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีความสวยงามและน่าท่องเที่ยวอีกแห่งของสตูล คือ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา” ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน ในคาบสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ คือ “เกาะบุโหลน” ซึ่งเป็นเกาะที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘มุกใหม่แห่งอันดามัน’ มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสวยใสสวย มีจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกกระจายอยู่หลายจุด ใต้ท้องทะเลอุดมไปด้วยปะการังหลากสี ในตอนกลางคืนบริเวณชายหาดมีปูเสฉวน ปูลม ให้ดู และยังเป็นจุดดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงามจุดหนึ่งด้วย
สตูลยังมีชนอีกกลุ่มที่น่ารู้จัก นั่นคือ“ซาไก” ชาวป่าที่เราคุ้นเรียกว่า ‘เงาะป่า’ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขตพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า และ อ.ควนโดน ชาวซาไกมีความจำดีช่างสังเกต ชำนาญในการบุกป่าและวิ่งเร็ว ลักษณะนิสัยร่าเริง ชอบความสนุกสนาน ชอบเสียงดนตรี กลัวผี กินเก่ง กินจุ ชาวซาไกไม่ชอบอาบน้ำเพราะเชี่อว่าการอาบน้ำชำระร่างกาย จะทำให้กลิ่นป่าหายไปการออกล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะไม่ได้ผล
ซาไกในสมัยก่อนจะนุ่งห่มใบไม้และเปลือกไม้ จนเมื่อได้ติดต่อกับชาวบ้านหรือคนเมืองมากขึ้นจึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นนุ่งเสื้อผ้า รวมถึงวิถีความเป็นอยู่ต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนตามยุคสมัย กลายมาเป็นคนเมืองมากขึ้น ซึ่งถ้าหากใครมีโอกาสผ่านไปเที่ยวหรือแวะเยี่ยมเยือนพวกเขา ก็อย่าได้มองซาไกเป็นเหมือนสินค้าทางการท่องเที่ยว แต่ให้มองด้วยความเข้าใจว่าพวกเขาก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง
ตราประจำจังหวัด
รูปพระสมุทรเทวาสถิตอยู่บนแท่นหินกลางทะเล
เบื้องหลังมีรัศมีพระอาทิตย์อัสดง
พระสมุทรเทวา คือ เทวดาผู้ปกป้องรักษามหาสมุทร
บัลลังค์หิน คือ วิมารของเทวดา
พระอาทิตย์อัสดง คือ ฝั่งทะเลตะวันตก หรือมหาสมุทรอินเดียนั่นเอง
คำขวัญประจำจังหวัด
“สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”
ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.
ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.






