“สงขลา”
ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดสงขลา
สงขลาหรือสิงขรนครเก่า
ปักษ์ใต้เราชายหญิงเรียกสิงหลา
สิงหนครแกร่งแรงศักดา
หมายความว่าเขาใหญ่ยิ่งสิงห์ยืนยัน
เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองปราการแกร่ง
ชุมทางแห่งการค้าพาสุขสันต์
ยังตระหง่านสะท้านทั่วถิ่นครัน
เรียกเพี้ยนกันสงขลาชวนมาชมฯ
“สงขลา”
“สงขลา” อ่านว่า สง-ขา
“สงขลา” ภาษาบาลีว่า “สิงขระ”
“สิงขระ” อ่านว่า สิง-ขะ-ระ
“สิงขระ” เป็นคำบาลีสันสกฤต
“สิงขระ” ภาษาไทยว่า “สิงขร”
“สิงขร” อ่านว่า สิง-ขอน
“สิงขร” แปลว่า ภูเขา
“สิงขร” เป็นคำยืมมาจากบาลีสันสกฤต
เดิมบาลีสันสกฤตใช้คำว่า “สิขร” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย จึงเพิ่มเสียงพยัญชนะสะกดลงในพยางค์แรกเป็นคำว่า “สิงขร”
บางท่านบอกว่า “สงขลา”
มาจากคำบาลีว่า “สังขะ”
“สังขะ” ภาษาบาลี “สังข์”
“สังข์” สันสกฤตว่า “ศงฺข” Shankha
“สังข์” หมายถึง หอยทะเลกาบเดียว มีเปลือกสีขาว ใช้สำหรับหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ จึงนำมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา
บางท่านบอกว่า “สงขลา”
มาจากคำว่า “สังฆรา” ออกเสียงแบบเขมรว่า “ซ็องเคียะเรีย” หมายถึง พายุ ใหญ่ เข้าใจว่าชาวเขมรมาถึงสงขลาขณะเกิดลมพายุ สอดคล้องกับชื่อหาดทราย ริมทะเลสาบสงขลา คือ ”หาดสมิหรา”
“สมิหรา” บาลีว่า “สมิระ”
“สมิระ” หมายถึง ลดพัดหรือกระแสลม
จังหวัดสงขลา
ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาแต่สมัยโบราณ มีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสงขลา เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่าง ปี พ.ศ.1993-2093 ในนามของเมืองซิงกูร์ หรือ ซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลา ว่า “เมืองสิงขร” จึงมีการสันนิษฐานว่า คำว่า สงขลา เพี้ยนมาจากชื่อ “สิงหลา” (อ่าน สิง-หะ-ลา) หรือสิงขร
เหตุผลที่สงขลามีชื่อว่า “สิงหลา” แปลว่าเมืองสิงห์ โดยได้ ชื่อนี้มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกล จะเห็นเป็นรูป สิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดีย จึงเรียกเมืองนี้ว่า “สิงหลา”ส่วนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ เป็น ซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเสียง เพี้ยนเป็นสงขลา อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลา เพี้ยนมาจาก “สิงขร” แปลว่า ภูเขา โดยอ้างว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่ บริเวณเชิงเขาแดง ต่อมาได้มีการพระราชทานนาม เจ้าเมืองสงขลาว่า “วิเชียรคีรี” ซึ่งมีความหมายสอดคล้อง กับลักษณะภูมิประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า “สงขลา” เดิมชื่อ “สิงหนคร” (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็น (สระอา) และชาวมลายูพูดลิ้นรัวเร็วตัด “หะ” และ “นะ” ออก คงเหลือ สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น “ซิงคะรา” หรือ “สิงโครา” จนมีการเรียกเป็น “ซิงกอรา”
ตราประจำจังหวัด
รูปหอยสังข์บนพานแว่นฟ้า
หมายถึง รูปหอยสังข์ซึ่งยังค้นหา หลักฐานของความหมายได้ไม่แน่ชัด แต่บุคคลบางคนบอก
ที่มาของตราประจำจังหวัดนี้ว่า เดิมเคยเป็นตรากระดุมเสื้อฉลองพระองค์ ของกรมหลวงสงขลานครินทร์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุยเดชวิกรมบรมชนกนาถ ต่อมากรมศิลปากร ออกแบบตราสังข์
ใช้เป็นเครื่องหมายตราจังหวัดสงขลา
คำวัญประจำจังหวัด
“นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้”
ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.
ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.







