“ปทุมธานี”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดปทุมธานี

ปทุมธานีทั่วเมืองบัวหลวง
ยังโชติช่วงเศรษฐกิจทุกทิศา
เดิมสามโคกก่อนเก่าเล่าขานมา
จนพัฒนาก้าวไกลในแดนดิน

มีชาวมอญมาร่วมอยู่ชูอาศัย
แดนบัวหลวงแสนสุขใจทุกฐานถิ่น
ปทุมธานีทองมองได้ยิน
ทุกชีวินเกษมศานต์ชื่นบานเอยฯ

“ปทุมธานี”
“ปทุมธานี” อ่านว่า ปะ-ทุม-ทา-นี
แปลว่า เมืองแห่งดอกบัว
ประกอบด้วย ปทุม+ธานี

“ปทุม”
“ปทุม” ในบาลีอ่านว่า ปะ-ทุ-มะ
“ปทุม” แปลตามศัพท์แปลได้หลายแบบ
“ป” แทนคำว่า “ปฐม”

“ปฐม” อ่านว่า ปะ-ถม
“ปฐม” บาลีอ่านว่า ปะ-ถะ-มะ
“ปฐม” สันสกฤตว่า “ปฺรถม”
“ปฐม” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤต “ประถม”
“ปฐม” แปลว่า ที่หนึ่ง,เริ่มแรก,ประธาน

ป + ทุม = “ปทุม”
“ทุม” แปลว่า ต้นไม้
“ปทุม” แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ต้นแรก” “ต้นไม้ที่เป็นประธาน”

“ธานี”
“ธานี” อ่านว่า ทา-นี
“ธานี” แปลว่า เมือง บุรี จังหวัด
และถูกใช้เป็นคำท้ายชื่อจังหวัดในประเทศไทย ๕ จังหวัด คือ อุทัยธานี, อุดรธานี,อุบลราชธานี , ปทุมธานี และ สุราษฎร์ธานี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างเมืองจำลอง เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า ดุสิตธานี นอกจากนี้ “ธานี” ยังใช้ในคำว่า “ราชธานี “ หมายความว่า เมืองหลวง

ประวัติศาสตร์โบราณคดีและวรรณกรรมได้มีการกล่าวถึงชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดปทุมธานีปัจจุบันในนามสามโคก มีฐานะเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีกล่าวอยู่ในวรรณกรรมเก่าแก่คือ นิราศวัดเจ้าฟ้า ของสุนทรภู่ ได้ให้ความหมายในเชิงตำนานเมือง คล้ายคลึงกับตำนานอื่นๆ ในภาคกลางที่กล่าวถึงพระเจ้าอู่ทอง ทรงนำทรัพย์สมบัติมาเตรียมสร้างเมืองบริเวณนี้

จากข้อมูลทางตำนานพื้นบ้านมีอยู่ว่า เดิมมีมอญสองพี่น้อง มีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา ทั้งสองคนได้ช่วยกันขุดดินถมโคกให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมถึง โดยได้แยกทำเป็นสองโคกอยู่ใกล้กัน แต่ละโคกได้สร้างเตาไว้บนโคกด้วยสำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ กิจการของทั้งสองพี่น้องดำเนินมาด้วยดีเป็นลำดับ นิสัยของพี่น้องคู่นี้ต่างกัน คนพี่เป็นคนใจบุญโอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์ มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำมาหากินด้วยสุจริต ได้คิดประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาของตน ให้มีคุณภาพดีขึ้นเสมอ เป็นที่นิยมของลูกค้ามากจึงร่ำรวยขึ้น ส่วนคนน้องมีนิสัยเกียจคร้านเป็นคนหยาบผลงานที่ได้จึงไม่ดี ทำให้ฐานะมีแต่ทรงกับทรุด เกิดความคิดริษยาพี่ชายต่อมาวันหนึ่งได้รวบรวมพรรคพวกทำลายเตาเครื่องปั้นดินเผาของพี่ชายจนหมดสิ้น แต่พี่ชายก็ไม่โกรธจึงได้ไปสร้างโคกใหม่ และสร้างเตาเผาใกล้บ้านตนเอง เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา กิจการของเขาก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีก

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์สอดคล้องกับตำนานท้องถิ่นคือ สามโคก เป็นแหล่งเตาเผาซึ่งชาวมอญสร้างขึ้นเพื่อผลิตเครื่องปั้นดินเผา ใช้ในชุมชน และส่งไปขายตามที่ต่างๆ

สามโคกเป็นชุมชนเก่าแก่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในสมัยอยุธยา ในกฏหมายลักษณะพระธรรมนูญว่าด้วยการใช้ตราราชการ พ.ศ.๒๑๗๕ ระบุว่าสามโคกเป็นหัวเมืองหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อกรมพระกลาโหม

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการอพยพชาวมอญ ๑๑ คน ที่เป็นผู้นำการอพยพครั้งนั้นมียศศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ควบคุมมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทรงรับมอญอพยพให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก ทำให้มีจำนวนชาวมอญเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขยายชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เข้าไปในแผ่นดินมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งด้านตะวันตก ได้มีการขุดคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นป่ารกทึบ มีหนองน้ำและสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อมีโครงการขุดคลองรังสิต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพของป่าดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่นาข้าว

สมัยอยุธยา
มีการอพยพชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่ในเมืองปทุมธานีในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา มีชาวมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากเมืองพม่าเป็นจำนวนมาก ชาวมอญที่มีชื่อเสียงได้แก่ พระยาเกียรติ พระยาราม และพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณบ้านใหม่มะขามหย่อง บางลี่ บางขาม ปากน้ำประสบ บ้านบางเพลิง บ้านไร่ ป่าฝ้าย บ้านขมิ้น และบ้านหัวแหลม โดยเฉพาะบ้านขมิ้น ถือว่าเป็นชุมชนมอญที่มีขนาดใหญ่ และเป็นที่พำนักของพระยาเกียรติพระยาราม

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี เมื่อยกทัพกลับได้กวาดต้อนครัวมอญมากรุงศรีอยุธยาด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้พวกมอญดังกล่าวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใด สันนิษฐานว่า คงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชานพระนคร และส่วนหนึ่งคงอยู่ร่วมกับชาวมอญที่อพยพเข้ามาครั้งแรก

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พวกมอญได้ก่อกบฏต่อกษัตริย์พม่าและถูกพม่าปราบปรามลงได้ ชาวมอญส่วนหนึ่งหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พม่าได้ส่งทูตมาเจรจาขอรับครัวมอญคืน แต่พระเจ้าปราสาททองทรงปฏิเสธ

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พม่าทำสงครามกับจีนในปี พ.ศ.๒๒๐๓ พวกมอญที่ถูกเกณฑ์เข้าทำสงครามได้พากันหลบหนีกองทัพ พาครอบครัวจากเมืองเมาะตะมะเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก ปลายเขตกรุงศรีอยุธยากับเขตเมืองนนทบุรี และบริเวณวัดตองปุ ชานกรุงศรีอยุธยา อพยพเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีกหลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิ์สามต้น

ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานจากคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้ความว่ามีชุมชนชาวมอญอยู่หลายแห่ง กระจายตัวอยู่ในบริเวณกำแพงพระนคร กับชานพระนครรอบกรุงศรีอยุธยา ชาวมอญเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย

สมัยธนบุรี
ได้มีการอพยพครั้งใหญ่ของชาวมอญ โดยมีพญาเจ่งเป็นหัวหน้า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญดังกล่าวทั้งหมด ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี และสามโคก ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในครั้งนั้นมีจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ คนเศษ

สมัยรัตนโกสินทร์
มีการอพยพของชาวมอญครั้งสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นที่เมืองกาญจนบุรี และเจ้าฟ้าอภัยภูธร สมุหนายกไปรับครอบครัวมอญที่เมืองตาก แล้วนำครอบครัวมอญทั้งหมดมาตั้งบ้านเรือนที่แขวงเมืองปทุมธานี เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ โดยให้สมิงสอดเบาเป็นพระยารัตนจักร ควบคุมดูแลชาวมอญเหล่านี้

ในระยะแรก ๆ นั้น ชาวมอญส่วนมากจะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งบ้านเรือนบริเวณสองฟากฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณสามโคก ต่อมาเมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีการโยกย้ายไปตั้งบ้านเรือนในพื้นที่รอบนอกออกไป มีการจับจองพื้นที่ดินในการเพาะปลูก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในระยะเวลาต่อมาพบว่า ผู้นำชาวมอญได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากทางการไทยหลายคน เช่น สมิงวิลาสสงครามสมิงพลเพชร กับพวกอีกหกคน ได้ทำเรื่องขอจับจองที่นาตำบลคลองกระทุ่มแบน ปลายคลองวัดที่ ๓ แขวงเมือง ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สมิงพระรามสิทธิกับพวกจับจองที่นา ในตำบลลาดปลาดุก แขวงเมืองปทุมธานี พระยานครอินทร์ ขอจับจองที่ดินในตำบลเชียงรากน้อย แขวงเมืองปทุมธานี พระยามหาโยธาขอจับจองที่ดินปลายคลองบ้านพร้าว มะแตง ขอจองที่นาตำบลคลองตาง แขวงเมืองปทุมธานี พระยามหาโยธากับพวกขอจับจองที่ดินในตำบลคลองบางหลวงและเชียงรากใหญ่ เป็นต้น

ความสำคัญชองชุมชนสามโคกปรากฏชัดเจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคกทางชลมารค เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘ ประทับอยู่ในพลับพลาริมน้ำ ที่ปลูกอยู่ตรงข้ามกับชุมชนสามโคก ปัจจุบันคือที่ตั้งวัดปทุมทอง บรรดาชาวมอญต่างพากันมาเฝ้ารับเสด็จ และได้นำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างเนืองแน่น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า เมืองสามโคกนี้มีดอกบัวเป็นจำนวนมาก เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลว่า ปทุมธานี เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๕๘ มีฐานะเป็นเมืองตรี

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะเมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ ไปขึ้นอยู่กับเมืองพระนครบาล แขวงกรุงเทพ ฯ เพื่อสะดวกในการปกครอง

คำขวัญจังหวัดปทุมธานี
ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม

ตราสัญลักษณ์จังหวัดปทุมธานี
รูปวงกลมมีสัญลักษณ์ดอกบัวหลวงสีชมพูอยู่ตรงกลาง และรวงข้าวสีทองอยู่ 2 ข้างดอกบัวและต้นข้าว หมายถึง ความสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *