“เพชรบูรณ์”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดเพชรบูรณ์

เพชรบูรณ์เมืองเก่าที่เล่าขาน
เป็นตำนานแหล่งเพาะพันธุ์พืชผล
บริบูรณ์ทั่วอาณาประชาชน
สายชั่วคนต่างผาสุกทุกคืนวัน

ยังอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ
เพียบพร้อมเพชรอัญมณีมากสีสัน
ก่อกำเนิดยอดผู้กล้าพร้อมฝ่าฟัน
พ่อขุนบางกำลังหาวนั้นกอบกู้ไทย

มีภูเขาเป็นปราการด้านธรรมชาติ
ยังสะอาดปรากฏแสนสดใส
เพชรบูรณ์พูนผลจนก้าวไกล
ที่หลายคนชวนกันไปไม่รู้ลืมฯ

“เพชรบูรณ์”
อ่านว่า เพ็ด-ชะ-บูน
แปลว่า เมืองที่อุดมไปด้วยเพชร
ประกอบด้วย เพชร + บูรณ์

“เพชร”
“เพชร” ภาษาบาลีว่า “วชิร”
ภาษาไทยใช้ “วชิร” เหมือนบาลี
“วชิร” มาจากคำสันสกฤตว่า “วชฺร”
“วชฺร” อ่านว่า วัด-ชะ-ระ
“วชฺร” แปลว่า สายฟ้า หรือ เพชร
“วชฺร” ที่หมายความว่า “สายฟ้า” แล้วมามีความหมายว่า “เพชร” นั้นเป็นเพราะว่า เพชรเป็นวัตถุแข็งดังสายฟ้าของพระอินทร์ แต่โดยทั่วไปแล้ว “เพชร” ใช้เรียกแก้วแข็งมีค่า และมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่นๆ ใช้ทําเครื่องประดับหรือใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม โดยปริยายหมายความว่า แข็งที่สุด เช่น เหล็กเพชร ใจเพชร

“เพชร” ตามสันสกฤต
ยังแปลงรูปเป็นอีกหลายอย่าง คือ วัชร
พชร, พัชร, เพชร, วิเชียร, พิเชียร

“บูรณ์”
“บูรณ์” บาลีว่า “ปูรณ”
“ปูรณ” อ่านว่า ปู-ระ-นะ
“ปูรณ” แปลตามศัพท์ว่า “ความเต็ม” “การทำให้เต็ม”
“ปูรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุรณะ” “และ “บูรณ์”
“บุรณะ” หมายถึง ซ่อมแซม , ทำให้กลับคืนดี
“บูรณ์” หมายถึง เต็ม

“จังหวัดเพชรบูรณ์” เป็นดินแดนประวัติศาสตร์บนลุ่มน้ำป่าสัก ที่ปรากฏหลักฐานการค้นพบทางโบราณคดี ได้แก่โครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ตั้งแต่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในหลายพื้นที่ เช่น วังโป่ง ชนแดน บึงสามพัน วิเชียรบุรีและศรีเทพ และที่สำคัญยิ่งคือ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ปรากฏร่องรอยอารยธรรมที่มีความเจริญต่อเนื่องยาวนานมานับพันปีในสถานที่เดียวกัน ได้แก่ จารึกอักษรปัลลวะ โบราณสถานสมัยทวาราวดี ได้แก่ เขาคลังใน เขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์  โบราณสถานสมัยขอม ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง นอกจากนั้น ยังมีแท่งศิลาจารึกหินทราย เขียนเป็นอักษรขอม ภาษาสันสกฤต ซึ่งข้อความระบุว่าจารึกมาเกือบ 1000 ปีแล้ว สันนิฐานว่า น่าจะนำมาจากเมืองศรีเทพ ปัจจุบันนี้ ได้อัญเชิญมาตั้งเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์

เพชรบูรณ์เป็นดินแดนแห่งวีรกษัตริย์ “พ่อขุนผาเมือง”เจ้าเมืองราด (ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ที่หล่มสัก) ผู้มีคุณูปการในการร่วมก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยเป็นแห่งแรกในดินแดนสุวรรณภูมินั่นคือ อาณาจักรสุโขทัย ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง(พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  และในสมัยสุโขทัยนี้เองมีหลักฐานว่า เพชรบูรณ์ได้มีความเจริญตั้งเป็นบ้านเมืองอย่างมั่นคงแล้ว ดูจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 กล่าวถึงเมือง ลุมบาจาย (เชื่อว่าได้แก่ หล่มเก่า) และศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่93 วัดอโศการามได้มีการกล่าวไว้ว่า เมืองวัชชปุระ (สันนิษฐานว่าคือเมืองเพชรบูรณ์)เป็นเขตรัฐสีมาของกรุงสุโขทัยด้านตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังปรากฏแนวคันดินคูน้ำตาม(แนวถนนสันคูเมืองในปัจจุบัน)  ที่สร้างไว้เพื่อป้องกันเมืองในสมัยนั้นและหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในยุคนี้อีกชิ้นหนึ่งคือจารึกลานทองคำที่พบในเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สมัยสุโขทัย ในวัดมหาธาตุได้ระบุถึงชื่อเมืองเพชรบูรณ์ว่า “เพชบุร” ซึ่งได้มีการตีความคำว่า “เพช” น่าจะมาจากคำว่า “พีช” อันเป็นคำบาลี แปลว่า “พืช” ฉะนั้น ชื่อเมืองเพชรบูรณ์ในยุคแรกๆ ก็น่าจะหมายถึง เมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร นั่นเอง และชื่อดังกล่าวนี้ก็ยังได้ปรากฏในหลักฐานเอกสารในยุคต่อๆ มาอีกด้วย นั่นคือ แผนที่ไตรภูมิพระร่วมในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา แผนที่เดินทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ฉบับพรหมบุญ เขียนชื่อเมืองเพชรบูรณ์ในอดีตว่า “เพชบูรร”

สมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏหลักฐานว่า เพชรบูรณ์เป็นหัวเมืองชั้นโท มีหน้าที่นำทัพในการศึกสงครามด้านเมืองลาว และเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้าของป่าจากหัวเมืองต่างๆ ส่งออกผ่านกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีคือกำแพงเมืองเก่าของเมืองเพชรบูรณ์ที่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนประกอบด้วยศิลาหินทราย มีป้อมปราการทั้ง 4 มุมและประตูทางเข้าเมือง สันนิฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยกลางกรุงศรีอยุธยา และยังมีโบสถ์และพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่ในวัดหลายแห่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ เช่น วัดช้างเผือก วัดโพธิ์กลางนางั่ว เป็นต้น  และตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ระบุว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงเคยเสด็จเดินทัพผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อไปตีเมืองเขมร จึงได้มีการสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ไว้ ณ บริเวณนั้นที่อำเภอวิเชียรบุรี

ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี ได้นำทัพต่อสู้กับพม่าที่พิษณุโลก ต่อมาเสบียงขาดแคลน จึงได้ล่าทัพมาสะสมเสบียงที่เพชรบูรณ์ ก่อนจะเดินทัพกลับไปต่อสู้กับพม่า ได้ทรงเสด็จมานมัสการพระพุทธรูปเอาฤกษ์เอาชัยที่วัดมหาธาตุ ครั้งพอเสด็จออกมายังไพร่พลก็ได้เปล่งเสียงเรียกขวัญว่า “มีชัย” 3 ครั้ง  พระพุทธรูปองค์นั้นจึงได้ชื่อว่า “หลวงพ่อเพชรมีชัย” มาจนทุกวันนี้

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในพงศาวดารฯ ได้มีบันทึกถึงเหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีการนำกองทัพจากกรุงเทพฯมาสู้รบปราบกบฏจากเมืองลาวในพื้นที่เมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่ม ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเมืองหล่มที่อยู่ริมน้ำพุงครั้งยิ่งใหญ่จนมีการตั้งเมืองหล่มสักที่ริมแม่น้ำป่าสักขึ้นมาใหม่  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดระเบียบหัวเมืองใหม่ มีการตั้งเมืองเพชรบูรณ์ขึ้นเป็น “มณฑลเพชรบูรณ์” เพื่อเป็นหัวเมืองเอกคอยป้องกันราชอาณาจักรจากศัตรูทางเหนือ  มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง 3 ท่าน มีราชทินนามว่า พระยาเพชรรัตน์สงครามฯ และยังทรงโปรดฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งทรงกรม มีพระนามว่า “เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” อีกด้วย  นอกจากนั้นยังทรงโปรดฯ ให้ “กรมสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ” เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น ได้เสด็จมาตรวจราชการเมืองเพชรบูรณ์ และทรงได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองเพชรบูรณ์อย่างมากมายในหนังสือชื่อว่า “ความไข้เมืองเพชรบูรณ์”

ในยุคประชาธิปไตย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2486-2487 เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการนครบาลเพชรบูรณ์ โดยตั้งใจจะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ โดยให้เหตุผลว่า เพชรบูรณ์มีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่ตรงกลางของประเทศ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสาน และกรุงเทพฯ และได้มีการย้ายหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยทหารต่าง ๆ มาไว้ที่เพชรบูรณ์เป็นจำนวนมาก  ทั้งยังได้ทำพิธียกเสาหลักเมืองหลวง นครบาลเพชรบูรณ์ ไว้ที่บุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดคุณูปการในการพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย  แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกไปโดยมติของสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อ พ.ศ. 2510-2525  ได้เกิดความขัดแย้งแนวคิดทางการเมืองจนเกิดการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตพื้นที่อำเภอเขาค้อ เป็นเวลากว่า 14 ปีจึงได้สงบลง โดยนโยบายการเมืองนำการทหาร  ไม่ใช้ความรุนแรงมาแก้ไขความขัดแย้งทางความคิด

จากนั้น จังหวัดเพชรบูรณ์ก้ได้มีการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรื่องในทุก ๆ ด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมือง ด้านการเกษตร ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการคมนาคม และพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญจนมีการกำหนดวิสัยทัศน์จังหวัดเพชรบูรณ์ว่า “ดินแดนแห่งความสุข ของคนอยู่และผู้มาเยือน”

ในปีมหามงคล พ.ศ. 2554 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  จังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนและชาวเพชรบูรณ์ทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันสร้าง “พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ “พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ประดิษฐานไว้ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติและเป็นมหาพุทธานุสรณ์ ประกาศพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานอย่างมั่นคงบนแผ่นดินเพชรบูรณ์สืบไป

ตราประจำจังหวัดเพชรบูรณ์
ตราประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ จะมีรูปของ เพชร ภูเขา และ ไร่ยาสูบ อยู่ในรูปวงกลมที่มีลายของกนกไทยล้อมรอบ โดยจะมีเพชรเจียรนัยเป็นรูปหัวแหวน คล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับลงดินลอยอยู่บนท้องฟ้าด้านเหนือของภูเขา ส่วนบริเวณของพื้นดินก็จะเป็นไร่ยาสูบ และมีอักษรเขียนว่า จังหวัดเพชรบูรณ์

คำขวัญจังหวัดเพชรบูรณ์
เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *