“แพร่”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดแพร่

คนแพร่แต่ก่อนเล่าขาน
ตำนานโกไสยเมืองเก่า
พลนครถิ่นฐานบ้านเรา
ต่างเล่าสืบทอดกันมา

แข็งแรงพลไพร่ใจสู้
ทุกผู้สุขสันต์หรรษา
สงบสันติปรีดา
ทั่วถิ่นลานนาทั่วไทยฯ

เมืองแพร่มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง ตำนานเมืองเหนือเรียกว่า “พลนคร” หรือ “นครพล”

“พลนคร”
อ่านว่า พน-นะ-คอน
แปลว่า เมืองที่มีความแข็งแกร่ง
ประกอบด้วย พล + นคร

“พล”
“พล” บาลีอ่านว่า พะ-ละ
“พล” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”

“พล” มี 2 ความหมาย

  1. ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ
  2. กองทัพ, กองกำลังทหาร

“นคร”
“นคร” บาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ
“นคร” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต
“นคร”แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปราสาทเป็นต้น”
“นคร” มีรากศัพท์มาจาก “นค”
“นค” หมายถึง อาคารสูง เช่นปราสาท

“นคร” ความหมายเดิมบาลี หมายถึง ป้อม, ที่มั่น, ป้อมปราการ ต่อมาหมายถึง นคร หรือ เมือง (ที่มีป้อมค่าย) “นคร” ในสันสกฤตหมายถึง นคร,บุรี, กรุง, เมืองเอก, ‘เมืองใหญ่หรือ ราชธานี ส่วน “นคร” ในภาษาไทยหมายถึง เมืองใหญ่ , กรุง

จังหวัดแพร่เป็นอาณาจักรเก่าแก่มาช้านานกว่าพันปี เมืองแพร่สร้างขึ้นในสมัยใดไม่มีหลักฐานจารึกที่แน่นอน ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่จึงต้องใช้หลักฐานอ้างอิงจากจารึกเมืองอื่น เช่น เช่น พงศาวดารโยนก ตำนานเมืองเหนือ ตำนาน การสร้างพระธาตุลำปางหลวง และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้น นำข้อมูลจากหลายๆตำนานมาเชื่อมโยงกัน เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ที่เกี่ยวข้อง

ตำนานพระธาตุช่อแฮ จารึกไว้ว่า เมืองแพร่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ในตำนานวัดหลวงจารึกไว้ว่าเมื่อประมาณ พ.ศ.1371 พ่อขุนหลวงพล ราชนัดดาแห่งกษัตริย์น่านเจ้า ได้อพยพชาวไทลื้อและชาวไทเขินจากเมืองเชียงแสน ไชยบุรี และเวียงพางคำ ลงมาสร้างเมืองบนที่ราบริมแม่น้ำยม ตั้งชื่อว่า เมืองพลนคร

ตำนานสิงหนวัติ กล่าวไว้ว่าแพร่เป็นเมืองที่ปกครองโดยพญายี่บาแห่งแคว้นหริภุญไชย สันนิษฐานว่าแพร่และลำพูนเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1826  หลักที่ 1 จารึกไว้ว่า “เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพล เมืองน่าน เมืองพลัวพ้นฝั่งของ เมืองชวา เป็นที่แล้ว” เมืองแพล ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกนั้นคือ เมืองแพร่ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเก่าแก่ของเมืองแพร่ ว่าตั้งขึ้นมาก่อนเมืองเชียงใหม่และกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีความสอดคล้องกับตำนานสิงหนวัติ และชื่อเดิมของเมืองแพร่ปรากฏในหลักฐานที่เกี่ยวข้องหลายชื่อได้แก่ เมืองพล นครพลหรือพลรัฐนคร ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดที่ค้นพบ

ในตำนานเมืองเหนือ ฉบับใบลาน พ.ศ. 1824 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคน มาติดต่อเจ้านครพล ให้ไปร่วมงานนมัสการ และฉลองวัดพระธาตุลำปางหลวง และจากตำนานพระธาตุลำปางหลวงตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเจ้าเมืองพล เกณฑ์ชาวเมืองไปขุดหาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระธาตุ แต่ไม่พบ เมื่อศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของนครพลตามตำนานดังกล่าว พบว่าใกล้เคียงกับที่ตั้งเมืองแพร่ในปัจจุบัน

เวียงโกศัย เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ชื่อนี้ใช้เรียกเมืองแพร่ในสมัยขอมเรืองอำนาจ พระนางจามเทวีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนในเขตล้านนา จึงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นภาษาบาลีตามความนิยมในยุคนั้น เช่น น่านเป็นนันทบุรี ลำพูนเป็นเป็นหริภุญไชย ลำปางเป็นเขลางค์ เป็นต้น

เวียงโกศัย น่าจะมาจากชื่อดอย ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ่ อันเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ คือ “ดอยโกสิยธชัคบรรพต” อันหมายถึงดอยแห่งผ้าแพรอันงดงาม เมืองแพล น่าจะมาจากศรัทธาของชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อ เมืองของตนว่าเมืองแพล และได้กลายมาเป็นเมืองแพร่ปัจจุบัน

พ.ศ.1773 เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พ่อขุนบางกลางหาวประกาศตนเป็นอิสระ สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี รวมทั้งเมืองในเขตล้านนาอื่นๆ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ต่างเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นแก่ใคร และได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง

พ.ศ.1922 ในแผ่นดินสมัยพระเจ้าไสยลือไท สมเด็จพระบรมราชาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพขึ้นมาตีกรุงสุโขทัยและได้ชัยชนะ กรุงสุโขทัยจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองแพร่จึงตั้งตนเป็นอิสระจนถึง พ.ศ.2003

พ.ศ. 2088 เมืองเชียงใหม่เกิดจลาจล ทางกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาได้ยกกองทัพขึ้นมาตี พระนางจิระประภา ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการไปถวาย พระไชยราชาจึงยกกองทัพกลับ เมืองแพร่จึงตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาไปด้วย

พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ จนได้ชัยชนะ เชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของพม่า เมืองแพร่จึงตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าด้วย

พ.ศ. 2111 อาณาจักรล้านนาไทยถูกพม่าเกณฑ์ให้ยกกองทัพไปช่วยรบกรุงศรีอยุธยา เมืองแพร่ก็ยกกองทัพร่วมไปกับพม่าครั้งนี้ด้วย

พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยาก็แตก ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า อาณาจักรล้านนาไทยจึงตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า เมืองแพร่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะขึ้นกับเมืองที่มีกองทัพเข้มแข็ง หากขณะนั้นกองทัพเมืองเชียงใหม่เข้มแข็ง เมืองแพร่ก็จะขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ แต่หากขณะนั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้มแข็ง เมืองแพร่จะขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา เวลาใดที่ทั้งสองฝ่ายอ่อนแอหรือเกิดจลาจล เมืองแพร่จะตั้งตนเป็นอิสระ

พ.ศ. 2314 เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตีเชียงใหม่ มังไชยะ เจ้าเมืองแพร่มาสวามิภักดิ์จึงโปรดตั้งให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ แล้วเกณฑ์ไปตีเมืองเชียงใหม่ด้วย ต่อมาเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้แต่งกองทัพหลวง 300 คน ให้มาตรวจราชการทางเมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดไปจนถึงเมืองนครลำปาง

พ.ศ. 2445 เกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ในขณะที่พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงปกครองเมืองแพร่ มีพวกเงี้ยวคบคิดกันก่อการจลาจลขึ้นในเมืองแพร่

พ.ศ. 2458 ทางการได้ประกาศให้รวมหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นเป็นมณฑลโดยจัดให้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองลำปาง รวมเป็นมณฑลมหาราษฎร์และให้ตั้งทีว่าการมณฑลขึ้นที่จังหวัดลำปาง ต่อมาใน พ.ศ. 2476 มีประกาศยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลโดยใช้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ แบ่งเป็นภาคๆ เมืองแพร่จัดอยู่ในภาคที่ 5 ที่ทำการภาคตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปางขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย

พ.ศ.2500 ทางราชการได้ประกาศยกเลิกการปกครองแบบภาค ประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดแพร่

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
เป็นรูปม้ายืน มีพระธาตุช่อแฮ่อยู่บนหลัง
หมายถึง นามเมือง และคณะกรรมการ จังหวัดแพร่ ได้เสนอรูปม้ทยืน เป็นดวงตราประจำจังหวัด และได้นำภาพโบราณสถาน ที่สำคัญของจังหวัด ก็คือ พระธาตุช่อแฮ มาประกอบอยู่บนหลังม้าด้วย

คำขวัญจังหวัดแพร่
หม้อหอม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

6 Comments

ส่งความเห็นที่ kenya ยกเลิกการตอบ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *