“ประจวบคีรีขันธ์”
ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“ประจวบคีรีขันธ์”
อ่านว่า ปะ-จวบ-คี-รี-ขัน
แปลว่า กลุ่มภูเขาที่มาบรรจบกัน
ประกอบด้วย ประจวบ + คีรี + ขันธ์
“ประจวบ”
“ประจวบ” มาจากคำว่า “ประจันต”
“ประจันต” อ่านว่า ปัด-จัน-ตะ
“ประจันต” ชื่อเต็มๆคือ “ปัจจันตประเทศ”
“ปัจจันตประเทศ” บาลีว่า “ปจฺจนฺตปเทส”
“ปจฺจนฺตปเทส” อ่านว่า ปัด-จัน-ตะ-ปะ-เท-สะ
“ปจฺจนฺตปเทส” หรือ “ประจันต” แปลว่า “ถิ่นฐานชายแดน” หมายถึงเขตปกครองนอกเขตส่วนกลาง
“คีรี”
“คีรี” บาลีเป็น “คิริ”
“คิริ” แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่คายสมุนไพรออกมา” “สถานที่คายน้ำและตัวยาออกมา” หมายถึง ภูเขา
“คิริ” kiri “คิริน” kirin ในภาษญี่ปุ่น แปลว่า กิเลน (กิเรน) หรือ ยีราฟ
“ขันธ์”
“ขันธ์” บาลีว่า “ขนฺธ”
“ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ
“ขนฺธ” ใช้ในความหมายดังนี้
(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร
(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง
(3) ไหล่หรือหลัง
(4) ลำต้น
(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่
(6) ตัว, การรวมตัว
ประจวบคีรีขันธ์
เดิมชื่อเมืองบางนางรม รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประจวบคีรีขันธ์” คู่กับเกาะกง ซึ่งพระราชทานนามว่า “ประจันตคีรีเขต” ซึ่งควรจะแปลว่า “แดนภูเขาที่อยู่ชายแดน”
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์เคยมีชื่อว่า “เมืองนารัง” หรือ “เมืองบางนางรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ของกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310 เมืองนารังก็ถูกทิ้งเป็นร้างไปช่วงเวลาหนึ่ง และกลับมาแต่งตั้งเป็น เมืองบางนางรม ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทว่าลักษณะทางภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้มีการย้ายที่ว่าการเมืองมาอยู่ที่ เมืองกุย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการรวม เมืองปราณบุรี เมืองประจวบ และ เมืองกำเนิดนพคุณ เป็นเมืองเดียวกัน กลายเป็น เมืองปราณบุรี จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าความใกล้เคียงกันของชื่อ เมืองปราณ และ เมืองปราณบุรี อาจทำให้เกิดความสับสนทางประวัติศาสตร์ในภายภาคหน้าได้ จึงมีการย้ายเมืองมาตั้งที่ เกาะหลัก เปลี่ยนชื่อจากเมืองปราณบุรี กลับมาเป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์ ใหม่จนจึงปัจจุบัน
ตราสัญลักษณ์
เป็นรูปศาลามณฑป และมีภาพเกาะอยู่เบื้องหลัง
ศาลามณฑป หมายถึง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ในถ้ำพระยานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ และเคยเสด็จไปประทับที่ถ้านี้ ๒ ครั้ง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ก็เคยเสด็จไปประทับที่นี่อีก
ภาพเกาะเบื้องหลัง หมายถึง เกาะหลัก ซึ่งเป็นสถานที่สําคัญแห่งหนึ่งมาแต่โบราณ จึงได้ นํามาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด
คำขวัญ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าวสับปะรด สวยสดหาดเขาถ้ำ งามล้ำน้ำใจ”
เห็นนางรัง บางนางรม ยุคกรุงศรี
เป็นเมืองที่ตั้งหลักอยู่ปักษ์ใต้
ครั้งเสียกรุงถูกทิ้งห่างร้างราไป
รัตนโกสินทร์ตั้งขึ้นใหม่ได้รุ่งเรือง
พระจอมเกล้าประทานนามขานไข
ประจวบคีรีขันธ์สมัยให้ฟูเฟื่อง
แดนภูเขาเป็นเขตขัณฑ์ป้องกันเมือง
กุยบุรีให้สืบเนื่องวัฒนา
อยู่เป็นแคว้นแดนใต้ได้ประจักษ์
ภูมิใจนักทองเนื้อเก้าผ่องหนักหนา
สับปะรดมะพร้าวรสดีเปรมปรีดา
อีกถ้ำผางดงามในน้ำใจคนฯ
ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.
ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.






