“ลำปาง”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดลำปาง

“ลำปาง”
“ลำปาง” มีชื่อในตำนานว่า “กุกกุฏนคร”
เมื่อครั้งพระพุทธกาลเมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ได้เสด็จออกมาโปรดสัตว์ จนมาถึงเมืองนี้เมื่อเวลาพลบค่ำ ได้เสด็จมายังดอยหม่นน้อยเหนือฝั่งแม่น้ำวัง ประทับอยู่ที่นั้น พระอินทร์ได้ทราบเรื่อง ก็เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงแปลงกายเป็นไก่ขาวขันปลุกชาวบ้านในเมืองให้ออกมาใส่บาตร “กุกกุฏนคร” จึงเป็นที่มาของเมืองไก่ขาว และเป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองลำปางมาจนถึงทุกวันนี้

“กุกกุฏนคร”
อ่านว่า กุก-กุ-ตะ-นะ-คะ-ระ
แปลว่า เมืองไก่ขัน
ประกอบด้วย กุกกุฏ + นคร

“กุกกุฏ”
“กุกกุฏ” อ่านว่า กุก-กุ-ตะ
“กุกกุฏ” เป็นคำบาลีและสันสกฤต
“กุกกุฏ” มาจากเสียงกุ๊กๆ
“กุกกุฏ” ภาษาไทยหมายถึง “ไก่”

“ไก่” ในภาษาไทย มีการนำคำว่า “ไก่” ที่เป็นชื่อสัตว์ปีก ไปเปรียบคนในลักษณะต่าง ๆเช่น “ไก่นา” เป็นคำเปรียบ คนเปิ่น คนโง่เซ่อ หรือคนที่ไม่รู้เรื่องที่ใครๆ ก็รู้กันแล้ว

“ไก่อ่อน” หมายถึง ผู้ที่มีประสบการณ์น้อย หรือผู้ที่มีอายุน้อย มักไม่มีความสามารถ ไม่ชำนาญ มีสำนวนว่า “ไก่อ่อนสอนขัน” ซึ่งหมายถึง ผู้มีประสบการณ์น้อยยังไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน 

“ไก่แจ้” หมายถึง ผู้ชายเจ้าชู้ เวลาพูดมักจะใช้เป็นคำซ้อนว่า “เจ้าชู้ไก่แจ้”  เปรียบผู้ชายเจ้าชู้ว่าเป็นไก่แจ้เพราะไก่แจ้นั้นตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าไก่ตัวผู้ชนิดอื่น

“ไก่” มีคำเปรียบถึงผู้หญิง และมักหมายถึงผู้หญิงรักสนุก ที่พวกผู้ชายชอบพูดว่า “วันนี้จะไปจับไก่”  คำว่า “ไก่” ในที่นี้หมายถึงผู้หญิงรักสนุก หรือผู้หญิงที่ถูกผู้ชายหลอกไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย

“ไก่หลง” หมายถึงผู้หญิงที่พลัดบ้านหรือเดินทางไปคนเดียวในที่ที่ไม่คุ้น มักจะถูกหลอกไปทำมิดีมิร้าย

“ไก่” ไม่ได้ถูกเปรียบเฉพาะแค่ในคำไทยเท่านั้น ในภาษาอังกฤษคำว่า “chicken“ ที่เป็นคำสแลง หมายถึงคนขี้ขลาด และ คนอ่อนหัด ไร้ประสบการณ์ ด้วย  คำนี้เมื่อใช้พูดสั้นๆว่า “chick” อ่านว่า “ชิก” หมายถึงหญิงสาวหรือสาววัยรุ่น ที่มีความหมายแฝงไปในทางที่ไม่ดีคล้ายกับที่ใช้ในภาษาไทย

วัยรุ่นไทยที่นิยมใช้คำว่า “chic” มาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึง ทันสมัย เก๋ไก๋ ระวังอย่าใช้สับสนกับ “chick “ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ  แทนที่จะเป็นสาวทันสมัยเก๋ไก๋  จะกลายเป็นสาวรักสนุกไป  เพราะคนไทยออกเสียง 2 คำนี้เหมือนกันคือ “ชิก”

“นคร”
“นคร” บาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ
“นคร” เป็นคำทั้งบาลีและสันสกฤต
“นคร”แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปราสาทเป็นต้น”
“นคร” มีรากศัพท์มาจาก “นค”
“นค” อาคารสูง เช่นปราสาท

“นคร” ความหมายแต่เดิมในบาลี หมายถึง ป้อม, ที่มั่น, ป้อมปราการ ต่อมาจึงหมายถึง นครหรือเมือง (ที่มีป้อมค่าย)

“นคร” ในสันสกฤตหมายถึง นคร,บุรี, กรุง, เมืองเอก, ‘เมืองใหญ่หรือ ราชธานี (a town, a city, a capital or metropolis)

“นคร” ในภาษาไทยหมายถึง เมืองใหญ่ , กรุง

ประวัติจังหวัดลำปาง
จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1,300 ปี มีชื่อเรียกขานกันหลายชื่อ ซึ่งปรากฏหลักฐานตามตำนานต่าง ๆ รวม 11 ชื่อ ได้แก่ กุกกุฏนคร ลัมภกับปะนคร ศรีนครชัย นครเวียงคอกวัว เวียงดิน เขลางค์นคร นครลำปางคำเขลางค์ อาลัมภางค์ เมืองลคร และเมืองนครลำปาง จากการที่เรียกขานกันว่า “กุกกุฏนคร” แปลว่าเมืองไก่ ดังนั้น ตราประจำจังหวัดลำปาง คือ “ไก่ขาว”

จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ.1223 จากหนังสือพงศาวดารโยนกกล่าวว่า “สุพรหมฤาษี” สร้างเมืองเพื่อให้ เจ้าอนันตยศ โอรสพระนางจามเทวี ครองคู่กับเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ให้ชื่อเมืองว่า “นครเขลางค์” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “นครอัมภางค์” และเปลี่ยนชื่อเป็น “นครลำปาง” ในภายหลัง

ในสมัยโยนกเชียงแสน นครลำปางเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอม เคยเป็นเมืองประเทศราชของพม่าและเมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี “เจ้าทิพย์ช้าง” สามารถขับไล่พวกพม่าออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ จึงได้รับการสถาปนาเป็น “พระยาสุวลือไชยสงคราม” ขึ้นครองนครลำปางในปี พ.ศ.2279

ในปี พ.ศ.2307 “เจ้าแก้วฟ้า” พระโอรสของเจ้าทิพย์ช้างได้ขึ้นครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง ณ ลำพูน รวมทั้ง ณ เชียงใหม่ ในเวลาต่อมา และมี “เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต”เป็นผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

จังหวัดลำปางได้ประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัด ในปี พ.ศ.2435 (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยขึ้นอยู่กับมณฑลพายับสมัยหนึ่ง (พ.ศ.2443) ต่อมาแยกเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ในปี พ.ศ.2458 ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีประกาศยกเลิกมณฑลทั่วราชอาณาจักร ลำปางจึงมีฐานะเป็น ?จังหวัดลำปาง? ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการอาณาจักรสยาม

ตราประจำจังหวัดลำปาง
 รูปไก่ขาวยืนอยู่ในซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวง
หมายถึง ไก่เผือก เป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองกุกุตตนคร (ตำนานเมืองลำปาง) และได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญโดยปรากฏเครื่องหมายไก่เผือก คู่กับ ดวงตราแผ่นดินในศาลากลางเมืองลำปาง ตั้งแต่สมัยเริ่มเปลี่ยนที่ทำการเมืองจาก “เค้าสนามหลวง” เป็นศาลากลางเมืองนครลำปางขึ้น ในสมัยเริ่มสร้างศาลากลางหลังแรก เมื่อ พ.ศ. 2452

ซุ้มมณฑปที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นศิลปกรรมล้านนาที่งดงามมาก วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปาง มีองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก

คำขวัญ คำขวัญของจังหวัดลำปาง
“ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม
งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก” 

จะกล่าวถึงจังหวัดใดในภาคเหนือ
จะสุขเหลือกว่าลำปางอย่างนี้หนา
มีถ่านหินสินแร่เกลื่อนกล่นตา
อีกรถม้าขวักไขว่ไปทั่วแดน

ทั้งครบครันเครื่องปั้นตราไก่ขาว
ทุกครั้งคราวฝึกช้างใช้ให้หนักแน่น
นครแห่งความสุขทุกเมืองแมน
สะท้อนแทนน้ำใจมิตรไมตรี

จากตำนานพุทธกาลท่านเล่าไว้
พระอินทร์แปลงเป็นไก่ขาวผ่องศรี
ได้ขันปลุกทุกคนดอยหม่นน้อยนี้
ให้ตื่นเช้าทันทีทำบุญทาน

เพื่อตักบาตรองค์เลิศล้ำพระสัมพุทธ
เป็นกุศลสูงสุดเกษมศานต์
กุกกุฏนครเห็นเป็นตำนาน
ต่างเรียกขานเมืองไก่ขาวทุกเช้าเย็น

ลัมภกับปะนครแต่ก่อนเก่า
พระธาตุเจ้าลำปางหลวงล้วนพบเห็นศรีนครไชยห้าเจดีย์ร่มเย็น
นครเวียงคอกวัวเป็นหลักแหล่งดี

พระแก้วเวียงดินถิ่นสรรค์สร้าง
เรียกเขลางค์นคราทุกราศี
นครลำปางคำเขลางค์ทวี
อาลัมภางค์สวัสดีทุกชีวัน

เมืองลครก่อนเก่าชาวเราสร้าง
เรียกนครลำปางอย่างสุขสันต์
สิบเอ็ดชื่อเลื่องลือไกลไทยทั่วกัน
ลำปางบ้านเกิดฉันลานนาเอย

ขอบคุณบทกลอน
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ขอบคุณภาพประกอบ
Google

เรียบเรียงโดย
กลุ่มภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *