“นครวิถี – ธานีรัถยา – กรุงเทพอภิวัฒน์”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
นครวิถี – ธานีรัถยา – กรุงเทพอภิวัฒน์

คำศัพท์ท่านเลือกใช้ ชวนชม
นครวิถีสม สืบสร้าง
ธานีรัถยารมย์ เริงรื่น
กรุงเทพอภิวัฒน์อ้าง อรรถแจ้งแถลงสารฯ

บาลีวันละคำ ควรจดจำนำสื่อสาร
คนไทยใช้มานาน ร้องเรียกขานผ่านทั่วไป

วิถีชีวิตคน ชาวชนเมืองเรืองวิไล
นครวิถีใน สังคมไทยได้ทราบกัน

เมืองแห่งเส้นทางดี ธานีรัถยานั่น
เส้นทางอย่างครบครัน รถสัญจรท่องเที่ยวไกล

กรุงเทพอภิวัฒน์ เจริญจรัสสมัย
กรุงเทพแดนกรุงไกร เมืองหลวงไทยในแดนดินฯ

สิ้นศัพท์สำหรับรู้ เรียนมี
ประเภทตามบาลี เลิศล้วน
พอประจักษ์จำดี โดดเด่น
พร้อมอรรถจัดครบถ้วน ทั่วหน้าได้ชมฯ

“นครวิถี”
“นครวิถี” อ่านว่า นะ-คอน-วิ-ถี
แปลว่า วิถีชีวิตคนเมือง
ประกอบด้วย นคร + วิถี

“นคร”
“นคร” บาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ
“นคร” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต
“นคร”แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปราสาทเป็นต้น”
“นคร” มีรากศัพท์มาจาก “นค”
“นค” หมายถึง อาคารสูง เช่นปราสาท

“นคร” ความหมายเดิมบาลี หมายถึง ป้อม, ที่มั่น, ป้อมปราการ ต่อมาหมายถึง นคร หรือ เมือง (ที่มีป้อมค่าย) “นคร” ในสันสกฤตหมายถึง นคร,บุรี, กรุง, เมืองเอก, ‘เมืองใหญ่หรือ ราชธานี ส่วน “นคร” ในภาษาไทยหมายถึง เมืองใหญ่ , กรุง

“วิถี”
“วิถี” อ่านว่า วิ-ถี
“วิถี” บาลีเป็น “วีถิ”
“วีถิ” ประกอบด้วย วี + ถิ
“วีถิ”แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

“วีถิ” ในภาษาไทยหมายถึง สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี

“ธานีรัถยา”
“ธานีรัถยา” อ่านว่า ทา-นี-รัด-ถะ-ยา
แปลว่า เส้นทางของเมือง
ประกอบด้วย ธานี + รัถยา

“ธานี”
“ธานี” อ่านว่า ทา-นี
“ธานี” แปลว่า เมือง ถูกใช้เป็นคำท้ายชื่อจังหวัด ๕ จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี  อุดรธานี  อุบลราชธานี  ปทุมธานี และสุราษฎร์ธานี 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเมืองจำลอง เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า “ดุสิตธานี”  นอกจากนั้น “ธานี” ยังใช้ว่า “ราชธานี”  แปลว่า เมืองหลวง

“รัถยา”
“รัถยา” อ่านว่า รัด-ถะ-ยา
“รัถยา” เป็นคำสันสกฤต
“รัถยา” บาลีเป็น “รจฺฉา” (รัด-ฉา)
“รจฺฉา” แปลตามศัพท์ว่า “เส้นทางอันคนเดินทางขีดขึ้น” (คือเดินจนเป็นเส้นทาง)
“รจฺฉา” ภาษาอังกฤษเรียก road
“road” มีรากศัพท์เดี๋ยวคำว่า “รถ”

“กรุงเทพอภิวัฒน์”
อ่านว่า กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด
แปลว่า ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
ประกอบด้วย กรุง + เทพ +อภิ + วัฒน์

“กรุง”
เป็นคำไทยแท้ แปลว่า เมือง,เมืองหลวง
“กรุง” บาลีและสันสกฤตใช้ “นคร”

“เทพ”
“เทพ” อ่านว่า เทบ
“เทพ” เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
ที่แตกต่างจากภาษาอื่น คือ “ว “ กับ “พ“
สามารถใช้แทนกันได้โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยน

“เทพ” ภาษาบาลีว่า “เทว”
“เทว” อ่านว่า เท-วะ
“เทว” หมายถึง เทพเจ้า, เทวดา , พระยม, ความตาย , สมมติเทพ, พระราชา, ฟ้า, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน

“อภิ”
“อภิ” อ่านว่า อะ-พิ
“อภิ” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต
“อภิ” คือคําประกอบหน้าศัพท์ ที่มีความหมายว่า ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ, เช่น
อภิรมย์ แปลว่า ยินดียิ่ง
อภิญญาณ แปลว่า ความรู้วิเศษ
อภิมนุษย์ แปลว่า มนุษย์ที่เหนือมนุษย์ทั้งหลาย

“วัฒน์”
“วัฒน์” ภาษาบาลีว่า “วฑฺฒน”
“วฑฺฒน” อ่านว่า วัด-ทะ-นะ
“วฑฺฒน” แปลตามศัพท์ว่า “การเจริญ”
“วฑฺฒน” ในบาลีมีหลายความหมาย มากกว่า “การเจริญ” หรือ “ความเจริญ”

“วฑฺฒน” ในภาษาไทยเป็น “วัฒน”
“วัฒน” อ่านว่า วัด-ทะ-นะ
“วัฒน” หากมีคำอื่นสมาสท้าย “วัฒนะ” (สระ อะ) อยู่ท้ายคำ หรือ “วัฒน์” ที่มี(การันต์) อยู่ท้ายคำ หมายถึง ความเจริญ, ความงอกงาม

สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟของไทย
ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยระบบรถไฟแห่งนี้จะเป็นสถานีรถไฟที่รวมเอาทุกระบบขนส่งทางรางเชื่อมต่อไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงที่เชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง

ด้วยแนวคิดแบบ Smart City ที่รวบรวมเอาทุกการเชื่อมต่อทางด้านคมนาคมต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน รวมถึงแหล่งธุรกิจที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นโซนอย่างชัดเจน

  1. Smart Business Complex เป็นศูนย์กลางของธุรกิจสมัยใหม่แบบครบวงจร เนื้อที่ 35 ไร่
  2. ASEAN Commercial and Business Hub ที่ถูกพัฒนาเนื้อที่ 78 ไร่ ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งค้าส่งและค้าปลีกระดับอาเซียนไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า อาคาร สำนักงาน โรงแรม เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ใช้งาน
  3. Smart Healthy and Vibrant Town เป็นโซนสำหรับที่อยู่อาศัยและพักผ่อนกว่า 105 ไร่ ซึ่งจะรวมถึงแหล่งพลังงานและสวนสาธารณะในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์จะกลายเป็น “ASEAN Linkage & Business Hub” ที่น่าสนใจที่สุดในอาเซียน ซึ่งนอกจากความน่าสนใจทั้ง 3 โซนข้างต้นแล้ว สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังมีความน่าสนใจอีกโซนคือ โซนที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางเนื้อที่กว่า 87.5 ไร่ ที่เรียกว่า “World Renowned Garden Interchange Plaza” ซึ่งทำให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวก และประหยัดเวลามากขึ้นเป็นเท่าตัว

โดยสามารถรองรับผู้โดยสารมากถึง 624,000 คน/วัน ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 298,200 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ประกอบไปด้วย

  1. ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน พื้นที่จอดรถยนต์ สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน และพื้นที่จอดรถยนต์ผู้พิการ 19 คัน
  2. ชั้นลอย พื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร ใช้เป็นพื้นที่ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า ทั้งสินค้า OTOP และสินค้าที่น่าสนใจหลายรายการ รวมทั้งเป็นพื้นที่ของห้องควบคุมของสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์
  3. ชั้นที่ 1 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร พื้นที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT
  4. ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับชานชาลารองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา
  5. ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 ชานชาลา
    นอกจากนี้จุดเด่นและสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ที่ควรรู้ ได้แก่
  6. เป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก และเป็นแกนกลางการเดินทางสู่มหานคร
  7. เป็นสถานี “อารยสถาปัตย์” ตามหลัก Universal Design โครงสร้างนาฬิกาแบบหน้าปัดมีเข็มนาฬิกา ซึ่งหน้าปัดมีเพียงตัวเลขบอกเวลาหมายเลข ๙ เท่านั้น ได้ถูกยกเพื่อติดตั้งที่หน้าโดมของสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้จัดการวางระบบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ใช้งานได้เป็นปกติ

นาฬิกานี้ผลิตโดยบริษัท Electric Time Company, Inc. อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นาฬิกานี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งอยู่บนผนังกระจกสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์มีความสูงจากระดับพื้นดินถึงจุดศูนย์กลางนาฬิกา 21 เมตร สำหรับหน้าปัดนาฬิกาที่มีเพียงหมายเลข ๙ เกิดจากความตั้งใจของผู้ออกแบบ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๙ และตั้งใจที่จะให้เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของสถานี

  1. โครงการนําร่องสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยเทคโนโลยี 5G เป็นการพัฒนาต้นแบบสถานีอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้จากที่นี่
  2. เข้าถึงรถไฟสายสีแดง ซึ่งเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยระบบรางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอันได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือรถไฟฟ้า BTS ของ กรุงเทพมหานคร โดยมีสถานีหลักคือสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์
  3. เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามหลัก TOD เป็นแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) คือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีหรือระบบขนส่งมวลชน ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมในรูปแบบผสมผสาน ทั้งตั้งอยู่ในระยะเดินเท้าจากสถานีขนส่งมวลชนและศูนย์กลางพาณิชยกรรม

โดยจัดสรรการใช้พื้นที่ให้มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน พื้นที่โล่งว่าง และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งบริการพื้นฐานต่าง ๆ และส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดินทางด้วยยานพาหนะหลากหลายประเภท ทั้งระบบขนส่งมวลชน จักรยาน และการเดินเท้า ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

10 Comments

ส่งความเห็นที่ mplrs.com ยกเลิกการตอบ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *