“ยโสธร”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดยโสธร

ยโสธรดำรงธำรงยศ
ให้ปรากฏลุ่มน้ำชีแดนอีสาน
ตั้งเป็นนามยศสุนทรแต่ก่อนการ
หมายเพื่อต้านศึกรบสยบภัย

เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองเรืองอำนาจ
และสามารถครองเมืองเด่นร่มเย็นสมัย
พัฒนามิหยุดยั้งยังก้าวไกล
และเจริญตราบจนในปัจจุบันฯ

จังหวัดยโสธรเดิมในอดีตมีชื่อว่า”เมืองยศสุนทร”
“ยศสุนทร”
อ่านว่า ยด-สุน-ทอน
แปลว่า เมืองผู้ทรงไว้ซึ้งยศ
ประกอบด้วย ยศ + สุนทร

“ยศ”
“ยศ” เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต
“ยศ” ภาษาบาลีว่า “ยส”
“ยส” บาลีอ่านว่า ยะ-สะ
“ยส” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤต “ยศ”
“ยศ” หมายถึง ตำแหน่ง,ฐานะ,ขั้น,ฐานันดร
ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล

“ยส” ภาษาบาลีอ่านว่า ยะ-สะ
ออกเสียงคลายกับ “ Yes sir “
ที่ใช้เวลาตอบเจ้านายหรือคนมียศ

“สุนทร”
“สุนทร” บาลีเป็น “สุนฺทร”
“สุนฺทร” อ่านว่า สุน-ทะ-ระ
“สุนฺทร” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” หมายถึง สวยงาม, ดี, งาม

ประวัติศาสตร์จังหวัดยโสธร
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยโสธรเป็นเมืองเก่าแก่พอๆ กับเมืองอุบลราชธานี กล่าวคือหลังจากท้าวทิดพรหม ท้าวคำผงขอพระราชทานตั้งบ้านดอนมดแดงขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี แล้ว บริวารอีกส่วนนึงได้อบพยบลงมาตามลำน้ำชี ถึงบริเวณป่าใหญ่ที่เรียกว่า “ดงผีสิงห์” หรือ “ดงโต่งโต้น” เห็นว่าเป็นที่ทำเลดีเพราะว่าอยู่ใกล้ลำน้ำชี ประกอบกับมีวัดร้างและเป็นรูปสิงห์ ถึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด และตั้งหมู่บ้านขึ้นเรียกว่า “บ้านสิงห์ท่า”

ในปีจุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ.2357) พระยาวิไชราชขัตติยวงศา ขอพระราชทานบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองพระราชทานนามว่า “เมืองยศสุนทร” หรือ ยโสธร มีเจ้าเมืองปกครองมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปกครองจัดแบ่งออกเป็นมณฑล จังหวัด และ อำเภอ เมืองยศสุนทรจึงถูกลดฐานะมาเป็นอำเภอยโสธร ตามชื่อที่ชาวเมืองนิยมเรียกกันมาขึ้นตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่นั้นมาจนเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ จึงได้มีการแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ตั่งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

ชาวยโสธรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และเป็นผู้ยึดมั่นในจารีตประเพณี ชอบทำบุญให้ทานซื่อสัตย์สุจริตและเป็นผู้มีสัมมาคารวะ และมีอุปนิสัยโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สิ่งที่เชิดหน้าชูตาของชาวยโสธร คือรักความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนไปเลือกตั้งโดยใช้สิทธิ์มีสถิติสูงสุดของประเทศ เป็นเมืองที่อนุรักษ์ประเพณีแห่บั้งไฟ ซึ่งมีชื่อเสียงไปถึงต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตหมอนขิด ปลูกแตงโมหวาน ผลิตข้าวจ้าวมะลิส่งขายไปทั่วประเทศ จนได้รับสมญานามว่า “เมืองประชาธิปไตย บั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ” นอกจากนี้ยังมีคำร่ำลือเป็นจำกัดความ ซึ่งแสดงถึงจุดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละอำเภอ ๘ อำเภอของจังหวัดอันไพเราะ สอดคล้องและสมจริงอีกว่า “คนงามมาหา คนก้าวหน้ากุดชุม คนสุขุมค้อวัง คนดังลุ่มพุก(คำเขือนแก้ว) คนสนุกเมืองยศ(เมืองยโสธร) คนทรหดเลิงนกทา คนมีค่าทรายมูล และคนคูณป่าติ้ว”

ตราประจำจังหวัด
รูปพระธาตุอานนท์ ปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดยโสธร ขนาบด้วยรูปสิงห์ 2 ตัว เบื้องล่างของภาพดังกล่าวรองรับด้วยรูปดอกบัวบาน

คำขวัญประจำจังหวัดยโสธร
เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

One Comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *